มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศล และพิธีถวายราชสดุดีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ และวันพ่อแห่งชาติ

วันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ก้องเขต เหรียญสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ รองศาสตราจารย์ ดร.ยาใจ สิทธิมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหืดล ร่วมพิธีทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมี คณะผู้บริหาร บุคลากร และประชาชนเข้าร่วมในพิธี ณ บริเวณพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บริหารส่วนงาน และบุคลากรจากส่วนงานต่าง ๆ เข้าร่วม พิธีทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศล พระสงฆ์ ๓๐ รูป จากวัดมหาสวัสดิ์ ณ บริเวณด้านหน้าสำนักงานอธิการบดี และพิธีถวายราชสดุดีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ และวันพ่อแห่งชาติ โดยมี อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในพิธี ถวายมาลัยราชสักการะพระบรมรูป สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย วางพานพุ่มถวายราชสักการะ จุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเยี่ยมชมนิทรรศการ “พระราชดำรัสในความทรงจำ” พร้อมด้วย ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บริหารส่วนงาน และบุคลากรจากส่วนงานต่าง ๆ

มหาวิทยาลัยมหิดล จัด งานมหกรรมคุณภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2564 “ปัญญามหิดล คุณภาพคน คุณภาพงาน” ภายใต้หัวข้อ “Mahidol Culture : M-A-H-I-D-O-L”

วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมคุณภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี ๒๕๖๔ “ปัญญามหิดล คุณภาพคน คุณภาพงาน” ภายใต้หัวข้อ “Mahidol Culture : M-A-H-I-D-O-L” รองศาสตราจารย์ ดร. ภก.สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน โดยมี ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้บริหารส่วนงาน และบุคลากร เข้าร่วมงานผ่านระบบออนไลน์ ภายในงาน ยังได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Mahidol Culture” และ คุณอภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer บริษัท SCG Cement Building Materials Co.,Ltd. บรรยายพิเศษเรื่อง “Organizational Culture: หัวใจความสำเร็จขององค์กร”

ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในการมอบรางวัลผลงานประเภทต่างๆ ดังนี้

รางวัล Team Good Practice Award ได้แก่

“Palliative Care ไม้ผลัดสุดท้าย…สู่เส้นชัยที่งดงาม” จาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
“พัฒนารูปแบบการจัดเก็บข้อมูล KPI Online ตามเกณฑ์ต่างๆ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (NSMU KPI Online)” จาก คณะพยาบาลศาสตร์
“Nurturing Research Culture Towards the World Class Tropical Medicine Research Institute” จากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน

รางวัล Innovative Teaching Award ได้แก่
“Integration and Inclusion for Innovation by Design Thinking นวัตกรรมบูรณาการเรียนร่วมด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ: กรณีศึกษาการพัฒนาผู้สอน-ผู้เรียน ของวิทยาเขตอำนาจเจริญ (2/63) ผ่านการบูรณาการสหสาขาวิชา (นวัตกรรม-เกษตร-สุขภาพ)” จาก โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ รางวัล Public Policy Advocacy Award ได้แก่
“การพัฒนาการจัดทำและจัดเก็บใบเสร็จรับเงินรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt)” จาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
“การบริหารยาเคมีบำบัดที่บ้านจากรามาธิบดี สู่นโยบายบริการสาธารณสุขไทย” จาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
“จากชุมชน สู่นโยบาย” จาก โครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา

พิธีลงนามการจัดทำข้อตกลงการปฏิบัติงานผู้บริหาร มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕

วันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามการจัดทำข้อตกลงการปฏิบัติงานผู้บริหาร ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ร่วมกับ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ ๕๗๓ ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง ชั้น ๕ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

พิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เนื่องใน “วันมหิดล” ประจำปี ๒๕๖๔

วันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๔ มหาวิทยาลัยมหิดลจัดพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เนื่องในวันมหิดล ประจำปี ๒๕๖๔ โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลา พร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล คณบดี ผู้อำนวยการ บุคลากร นักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ในโอกาสนี้ มีหน่วยงานภายนอกบริเวณใกล้เคียงมหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะฯ ณ ลานพระราชานุสาวรีย์ฯ ศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

“วันมหิดล” เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๔ กันยายน ของทุกปี ด้วยพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงวางรากฐานแก่วงการแพทย์ และการสาธารณสุขของไทยให้เจริญก้าวหน้า บุคลากรทางการแพทย์ การสาธารณสุข จึงได้ถือให้วันนี้เป็นวัน “มหิดล” เพื่อถวายราชสักการะ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระองค์ให้เป็น “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย”

นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๔๑/๒๕๖๔ ของวิทยาลัยศาสนศึกษา

วันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit: 2) ครั้งที่ ๔๑/๒๕๖๔ ของวิทยาลัยศาสนศึกษา เพื่อกำหนดเป้าหมาย แผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๔-๒๕๖๕ และรับฟังผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งการพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมี อาจารย์ ดร.พิบูลย์ ชุมพลไพศาล คณบดี วิทยาลัยศาสนศึกษา พร้อมด้วยผู้บริหารวิทยาลัยศาสนศึกษา เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น ผ่านการประชุมออนไลน์ โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้

การดําเนินงานตามเป้าหมายที่ผ่านมาและคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
๑. ปรับหลักสูตรย่อยระดับปริญญาตรี เพื่อลดค่าใช้จ่าย และตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของโลก รวมถึงมุ่งเน้นการศึกษาต่อเนื่อง
๒. เพิ่มภาคีเครือข่ายทั้งในด้านการศึกษาและบริการวิชาการ
๓. เป็น ๑ ในด้านศาสนศึกษาของประเทศไทย (Small but Smart)
๔. จัดบริการวิชาการระยะสั้น เช่น Culture tourism, Re-training
๕. ปรับแนวทางการบริหารน้ำทองสิกขาลัย ให้เป็น Training center โดยมีรูปแบบทั้งในการเป็นผู้จัดบริการวิชาการเองและให้บริการพื้นที่ในการจัดกิจกรรม

เป้าหมายที่จะดำเนินการเพิ่มเติมในอีก ๒ ปีข้างหน้า
๑. ปฏิรูปให้มีความมั่นคงแข็งแกร่งทั้งในด้านบุคลากร การเงิน และมีความรับผิดชอบต่อสังคม
๒. พัฒนาหลักสูตรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และเน้นพัฒนาทั้งนักศึกษาและบุคลากรอย่างคู่ขนานตามแนวทาง Small but Smart
๓. พัฒนางานบริการวิชาการ ทั้งในด้านการเผยแพร่องค์ความรู้และการบริการด้านศาสนศึกษา
๔. สร้างผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ และสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้กล่าวชื่นชมคณะผู้บริหารวิทยาลัยศาสนศึกษา ที่มีแผนและเป้าหมายการดำเนินงานที่ชัดเจน สภามหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานในทุกด้าน เพื่อให้วิทยาลัยฯ พัฒนาได้อย่างยั่งยืน และสามารถสร้างประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ โดยที่ประชุมได้เสนอให้วิทยาลัยฯ เพิ่มบทบาททางสังคมมากขึ้น เช่น บทบาทของศาสนศึกษากับสถานการณ์วิกฤต COVID-19 ศาสนศึกษากับความขัดแย้งทางการเมือง หรือ ศาสนศึกษากับความไม่เท่าเทียมทางสังคม เป็นต้น เสนอให้มีการสร้างหลักสูตรระดับปริญญาตรี หลักสูตรนานาชาติในรูปแบบออนไลน์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มนักศึกษาต่างชาติที่มีความสนใจด้านศาสนศึกษา สร้างความร่วมมือกับส่วนงานภายในมหาวิทยาลัย โดยบูรณาการองค์ความรู้ที่วิทยาลัยฯ มี ผสานเข้ากับศาสตร์สาขาต่างๆ เช่น ศาสนากับสุขภาพ รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมและให้ความรู้ด้านศาสนาแก่บุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัย รวมถึงการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลทางด้านศาสนาภายในประเทศมีอยู่หลากหลายในรูปแบบดิจิทัล นอกจากนี้ สภามหาวิทยาลัยได้เสนอแนะให้มหาวิทยาลัยพิจารณาในประเด็นการสนับสนุนการดำเนินงานของวิทยาลัยฯ ๔ ข้อ ดังนี้
(๑) การขอกรอบอัตรากำลังสายวิชาการเพิ่ม เพื่อให้เพียงพอต่อการเปิดหลักสูตร
(๒) การขอปรับบุคลากรจาก พนักงานส่วนงาน เป็น พนักงานมหาวิทยาลัย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะสายวิชาการ
(๓) การสนับสนุนการบริหารงานแก่ผู้บริหารชุดใหม่ของวิทยาลัยฯ
(๔) การทำให้วิทยาลัยอยู่ในราชกิจจานุเบกษา

นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๔๐/๒๕๖๔ ของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์

วันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๔๐/๒๕๖๔ ของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ เพื่อกำหนดเป้าหมาย แผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๔–๒๕๖๕ และรับฟังผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้ง การพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมี อาจารย์ แพทย์หญิงมนทกานติ์ โอประเสริฐสวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยผู้บริหารวิทยาเขตฯ เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น ผ่านการประชุมออนไลน์ โดยมีประเด็น ดังต่อไปนี้

การดำเนินการตามเป้าหมายที่ผ่านมาและคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
๑. ศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์เปิดให้บริการแก่ประชาชนในส่วนภูมิภาคได้อย่างเป็นทางการ โดยบูรณาการทั้งการแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์แผนไทย และการแพทย์แผนจีน และมุ่งสู่ความเป็นเลิศในด้านผู้สูงอายุ
๒. พัฒนาคุณภาพงานวิจัยตามพันธกิจของวิทยาเขต บนพื้นฐานของปัญหาท้องถิ่น โดยในปี ๒๕๖๓ มีจำนวนผลงานวิจัยตีพิมพ์ในฐานข้อมูลสากล จำนวน ๑๔ เรื่อง โดยอยู่ใน Quartile ๑ จำนวน ๑๑ เรื่อง และในปี ๒๕๖๔ ถึงปัจจุบัน (เดือนกรกฎาคม) จำนวน ๑๖ เรื่อง และอยู่ใน Quartile ๑ จำนวน ๑๑ เรื่อง
๓. การให้บริการวิชาการเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานในพื้นที่ เช่น เป็นที่ปรึกษาแผนพัฒนาจังหวัดนครสวรรค์ (ปี ๒๕๖๐-๒๕๖๔) โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ ล้านบาท มีผลงานจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา และมีบุคลากรที่ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการที่เกี่ยวกับบึงบอระเพ็ด ๓ ชุด
๔. มีหลักสูตรระดับปริญญาตรีที่เป็น Outcome based education และบูรณาการการเรียนการสอนกับพื้นที่ (area based) โดยมีหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (สาขาเกษตรกรปราชญ์เปรื่อง) ที่ได้รับคัดเลือกเป็นหลักสูตรในโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่

เป้าหมายที่จะดำเนินการเพิ่มเติมในอีก ๒ ปีข้างหน้า
๑. ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารระดับชาติและระดับนานาชาติ จำนวน ๒๙ เรื่อง บนพื้นฐานของปัญหาในพื้นที่ และส่งเสริมผลิตนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาในท้องถิ่น อย่างน้อย ๑ เรื่อง
๒. พัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาตรีให้เป็น Flexible education : micro credential ภายใต้มาตรฐาน AUN-QA และพัฒนาหลักสูตรที่เป็น upskill/reskill และรายวิชาในระบบ MUx เพื่อตอบสนองต่อผู้เรียนกลุ่มอื่นในสถานประกอบการ และคนทำงาน เพื่อสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเตรียมความพร้อมในการเปิดหลักสูตรระดับปริญญาโทหลักสูตรที่ ๒
๓. ศูนย์การแพทย์ฯ วางแผนพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุอย่างครบวงจร รองรับปัญหาของผู้สูงอายุระยะ Post-acute และขยายการให้บริการทางการแพทย์ตามความต้องการของพื้นที่ ภายในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ โดยมีความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่
๔. พัฒนา MUNA Farm ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นต้นแบบให้กับชุมชนในการทำเกษตรแนวใหม่ รวมถึงผลิตสินค้าทางการเกษตรเพื่อจำหน่ายให้กับบุคคลทั่วไป และเป็นแหล่งฝึกงานภาคปฏิบัติให้กับนักศึกษาหลักสูตร วท.บ.เกษตรกรปราชญ์เปรื่อง และส่งเสริมงานวิชาการเพื่อสังคม
๕. ศูนย์ฟิสิกส์ทฤษฎีและปรัชญาธรรมชาตินครสวรรค์ เตรียมความพร้อมในการสร้างระบบนิเวศน์ทางวิชาการทางฟิสิกส์ทฤษฎีและการประยุกต์กับศาสตร์อื่นๆ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก ผลิตผลงานวิจัยระดับสูงทางฟิสิกส์ทฤษฎี จักรวาลวิทยา และองค์ความรู้รากฐานในศาสตร์อื่นๆ โดยผลิตผลงานวิจัย ปีละ ๒ เรื่องต่อคน และเตรียมความพร้อมในการเปิดหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ทฤษฎีและปรัชญาธรรมชาติ
๖. พัฒนาองค์กร เป็น Mindful Campus ร่วมกับศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และขยายสู่สังคมชุมชนโดยรอบในจังหวัดนครสวรรค์

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กล่าวชื่นชมและสนับสนุนแนวทางการดำเนินงานของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ เห็นถึงศักยภาพของทีมงานในการดำเนินงานไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ และให้ดำเนินการสร้างความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และส่วนงานภายในของมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุอย่างครบวงจรต่อไป นอกจากนั้นวิทยาเขตฯ มีข้อได้เปรียบเชิงพื้นที่ ที่ประชุมได้เสนอแนวคิดการจัดทำ Flagship หรือทำโครงการขนาดใหญ่/โครงการระยะยาว ที่ก่อให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่อย่างแท้จริงและยั่งยืน และสนับสนุนให้วิทยาเขตฯ เป็นผู้นำชี้นำสังคมในทุกด้าน เช่น การแพทย์ สาธารณสุข เกษตรกรรม เป็นต้น

นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๓๙/๒๕๖๔ ของคณะกายภาพบำบัด

วันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๓๙/๒๕๖๔ ของคณะกายภาพบำบัด เพื่อกำหนดเป้าหมาย แผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๔-๒๕๖๕ และรับฟังผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้ง การพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. กภ.จารุกูล ตรีไตรลักษณะ คณบดีคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยผู้บริหารคณะ เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น ผ่านการประชุมออนไลน์ โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้

การดำเนินการตามเป้าหมายที่ผ่านมาและคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
๑. ผลักดันหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชากายภาพบำบัด ให้ได้รับ International Accreditation จาก WCPT
๒. ปรับปรุงและบูรณาการหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางคลินิก และหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชากายภาพบำบัด เป็นหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชากายภาพบำบัดคลินิก
๓. จัดตั้ง “ศูนย์ฝึกอบรมกายภาพบำบัดในภาวะกระดูกสันหลังคด” และ “ศูนย์กระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าผ่านกระโหลกศีรษะ ร่วมกับการฝึกกายภาพบำบัดแบบเฉพาะเจาะจง”
๔. Tele-physical therapy ผ่านระบบ Cisco Webex Meetings
๕. Innovative learning platform เช่น E-learning, short-course, module, credit bank
๖. Innovation and high impact research
– โครงการบริการวิชาการและวิจัยให้กับแรงงานต่างด้าวและผู้เกี่ยวข้องในชุมชนจังหวัดกาญจนบุรีร่วมกับ International Organization of Migration (IOM)
– โครงการนวัตกรรมอุปกรณ์ดามของการพัฒนาเพิ่มคุณค่าและต้นทุนต่ำจากเทอร์โมพลาสติก ภายใต้โครงการ Reinventing University

เป้าหมายที่จะดำเนินการเพิ่มเติมในอีก ๒ ปีข้างหน้า
๑. การศึกษา
๑.๑ การรับรองหลักสูตรทุกหลักสูตรทั้งปริญญาตรีและหลังปริญญาให้ได้ตามมาตรฐานสากล เช่น WCPT, WFOT, AUN-QA
๑.๒ นวัตกรรมด้านการศึกษาแบบยืดหยุ่นเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้แบบทุกที่ทุกเวลา เช่น E-learning, module, credit bank
๒. การบริการสุขภาพและบริการวิชาการ
๒.๑ เพิ่มคลินิกเฉพาะทาง Women health, Active Aging และ Vojta เพื่อเตรียมความพร้อมเป็น Healthcare Hub ด้านกายภาพบำบัดแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
๒.๒ Telehealth service ผ่าน Web Application เพื่อเอื้อให้ผู้รับบริการทั่วประเทศเข้าถึงการรับบริการ การรับรองมาตรฐานวิชาชีพของศูนย์กายภาพบำบัดจากสภากายภาพบำบัด ทั้งสาขาเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าและศาลายา
๓. วิจัยและนวัตกรรม
๓.๑ รับทุนงานวิจัยต่อเนื่องจาก IOM เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตแรงงานต่างด้าวและชุมชน
๓.๒ จดลิขสิทธิ์คู่มือและคลิปวิดิโองานวิจัยและงานบริการสุขภาพ และพัฒนาเครื่องมือแบ่งปันความรู้ใน KM masterclass และสื่อออนไลน์เพื่อบุคคลภายนอก
๓.๓ ประโยชน์จากงานวิจัยสู่นโยบายทางสุขภาพกับสังคมโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
๓.๔ นวัตกรรมสู่ภาคธุรกิจ เช่น อุปกรณ์ดามต้นทุนต่ำจากเทอร์โมพลาสติกและยางพารา
๔. การบริหารงานเพื่อความยั่งยืน ขอยื่นรับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA)

ทั้งนี้ ที่ประชุม ได้กล่าวชื่นชมคณบดีและทีม ที่มีศักยภาพทำงานเชิงรุก เห็นถึงความก้าวหน้าของคณะ และการเชื่อมโยงความร่วมมือ ไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ได้หลากหลาย บูรณาการข้ามศาสตร์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร วิทยาลัยราชสุดา และอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ เพื่อสร้างจุดเด่น และมุ่งเป้าหมายการเป็นผู้นำด้านกายภาพบำบัดระดับนานาชาติ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ เช่น การพัฒนานักกีฬาพาราลิมปิก พร้อมเสนอแนะให้คณะเพิ่มเติมความร่วมมือกับ Asian Center for Active Ageing กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันคณะ มีความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ทั้งด้านหลักสูตรกายภาพเพื่อชุมชน และคู่มือแนวทางการส่งเสริมสุขภาพดี “ชะลอชรา ชีวายืนยาว” โดยให้ดำเนินการหารือเพิ่มเติมกับ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ เพื่อผลักดันต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้าน Policy Advocacy เสนอให้เพิ่มหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ในภูมิภาค CLMV เพื่อแสวงหาทุนระดับนานาชาติ โดยหารือร่วมกับรองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร เพิ่มเติมกลุ่มลูกค้า และสร้างรายได้จากนวัตกรรมด้าน Wellness แบบ Startup สำหรับประชาชนทุกเพศ วัย เช่น อุปกรณ์ที่ผ่านการออกแบบและรับรองจากคณะกายภาพบำบัด อีกทั้งเพิ่มเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs)

นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๓๘/๒๕๖๔ ของคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

วันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๓๘/๒๕๖๔ ของคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อกำหนดเป้าหมาย แผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๔-๒๕๖๕ และรับฟังผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งการพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมี ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พร้อมด้วยผู้บริหารคณะ เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ Cisco Webex Meetings โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้

การดําเนินงานตามเป้าหมายที่ผ่านมาและคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
๑. เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ ได้แก่ โครงการพัฒนาหลักสูตร ICT+DST+Reskill (Flexi Education)
๒. พัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม ได้แก่ โครงการสนับสนุนกลุ่มวิจัย Global Collaboration (Germany, Japan, Australia, China, Taiwan) โครงการวิจัยบูรณาการตามความต้องการประเทศ (ด้านสังคมสูงวัย ด้านการแพทย์ ด้านสิ่งแวดล้อม) และโครงการ Intelligent Digital Hub in Medicine
๓. ส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจกระแสใหม่ ได้แก่ โครงการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วย Digital Technology

เป้าหมายที่จะดำเนินการเพิ่มเติมในอีก ๒ ปีข้างหน้า
๑. พัฒนาสถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดลให้เป็นสถาบันที่โดดเด่น สร้างผลงานที่มีความสำคัญ และมีคุณค่าสูงต่อมหาวิทยาลัยและประเทศชาติ
๒. สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อการทำงานวิจัยเชิงบูรณาการ โดยเฉพาะทางด้านการแพทย์ให้เข้มแข็งและยั่งยืน
๓. พัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือกับคู่ความร่วมมือระดับนานาชาติ เพื่อพัฒนาโครงการวิจัยร่วมกันและยกระดับความสามารถในการวิจัยของคณะฯ
๔. พัฒนาหลักสูตรให้เป็น Flexi Program ที่ทันสมัย คล่องตัวในการปรับเปลี่ยน เป็นที่ต้องการของผู้เรียน และผู้ใช้บัณฑิต
๕. พัฒนานักศึกษาให้มีคุณภาพ เป็นบัณฑิตที่พร้อมทำงานจริงได้ทันทีหลังสำเร็จการศึกษา โดยมีการเรียนรู้จากการทำงานจริงกับภาคอุตสาหกรรม (Authentic Learning)
๖. สร้างสภาพแวดล้อมและส่งเสริมให้นักศึกษาคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
๗. สนับสนุนการสร้างความสัมพันธ์กับนักศึกษาทุกชั้นปี คณาจารย์ และบุคลากรของคณะ เพื่อให้เกิดความผูกพันและช่วยเหลือเกื้อกูลกันตลอดไป
๘. ให้บริการวิชาการหลักสูตรอบรมที่ทันสมัย เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม โดยพัฒนาร่วมกับคู่ความร่วมมือกาคเอกชน / องค์กรชั้นนำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
๙. จัดทำและร่วมดำเนินการบริการวิชาการที่ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตามเป้าหมายที่ ๓ , ๔ และ ๑๓
๑๐. จัดทำโครงการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วย Digital Technology เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมและประเทศอย่างต่อเนื่อง
๑๑. ส่งเสริมให้คณาจารย์และบุคลากรมีการพัฒนาตนเองเพิ่มพูนความรู้และทักษะใหม่ๆ เพื่อพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในยุค Disruption

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กล่าวชื่นชมการดำเนินงานของคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่มีการพัฒนาอย่างมาก มีความร่วมมือกับส่วนงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย รวมทั้งมีเครือข่ายความร่วมมือในระดับนานาชาติ พร้อมทั้งเสนอแนะให้ กำหนดเป้าหมายการสร้างผลงานวิจัย / โครงการของคณะฯ ในรูปแบบ Market-In เพิ่มเติม จัดทำหลักสูตร Flexible Education ที่นักศึกษาสามารถเก็บหน่วยกิตได้ และเสนอเปิดหลักสูตรบูรณาการข้ามศาสตร์ เช่น แพทย์+ไอที รวมทั้งเสนอให้มีหลักสูตร Ph.D by Research เพิ่มมากขึ้น สร้าง Center หรือ Virtual Office ที่มีผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการสร้าง Platform ที่ประสบความสำเร็จ เช่น Facebook / Robinhood เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ และสามารถต่อยอดแนวความคิดให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงกำหนดแนวทางและเป้าหมายการดำเนินงานที่สอดคล้องกับ SDGs ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๓๗/๒๕๖๔ ของสถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา

วันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๓๗/๒๕๖๔ ของสถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา เพื่อกำหนดเป้าหมาย แผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๔ – ๒๕๖๕ และรับฟังผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งการพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธันย์ สุภัทรพันธุ์ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา พร้อมด้วยผู้บริหารสถาบันฯ เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ Cisco Webex Meetings โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้

การดําเนินงานตามเป้าหมายที่ผ่านมาและคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
๑. การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในสังคมและประเทศชาติ ในโครงการต่อไปนี้
– โครงการร่วมวิจัยและพัฒนาร่วมกันในการวิเคราะห์สารออกฤทธิ์ยับยั้งการพัฒนาการลูกน้ำยุงในกลุ่ม non-nicotine จากกากวัตถุดิบในกระบวนการกลั่นสุราและยาสูบ
– โครงการร่วมวิจัยกับ WADA Accredited Laboratory เป็นการทำงานพัฒนาเทคนิคการวิเคราะห์สารต้องห้าม โดยมีการทำงานวิจัยร่วมกับ Doping Lab IMIM ประเทศสเปน
– โครงการ Transcriptomic responses in blood cells treated with the anabolic agents
– โครงการสังเคราะห์สารมาตรฐานในการตรวจสอบสารต้องห้าม Norclostebol ด้วยทุน PCC
๒. การถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องสารต้องห้าม ในโครงการผลิตตำราเรื่องสารตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา และโครงการความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ
๓. ยกระดับห้องปฏิบัติการให้อยู่ระดับแนวหน้า และคงไว้ซึ่งการรับรองมาตรฐานสากล เช่น โครงการยกระดับ ห้องปฏิบัติการ NDCC และ โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศ (LIM)

เป้าหมายที่จะดำเนินการเพิ่มเติมในอีก ๒ ปีข้างหน้า
๑. ผลิตนักศึกษาที่เป็นที่ต้องการของหน่วยงานต่างๆ
๒. ผลิตงานวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาครัฐและเอกชน
๓. มีห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานระดับสากล อาทิ WADA NATA

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กล่าวชื่นชมการดำเนินงานของสถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา พร้อมเสนอแนะให้สถาบันฯ จ้างบุคลากรต่างชาติ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและยกระดับความเป็นนานาชาติให้กับสถาบันฯ ให้ความรู้ในการเลือกบริโภคอาหาร ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และยาให้แก่นักกีฬา เนื่องจากปัจจุบันมีสารต้องห้ามทางการกีฬาปนเปื้อนอยู่ในอาหารจำนวนมาก พัฒนาการสร้างเสริมสุขภาพในระบบอื่น เช่น การจัดทำ Health Promotion หรือ Health Warning นอกเหนือจากการตรวจสารต้องห้ามทางการกีฬา มีการบูรณาการร่วมกับส่วนงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย โดยจัดทำเป็น Virtual Classroom ได้ และวางนโยบายและกลยุทธ์ในการบริหารสถาบันฯ ให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๓๖/๒๕๖๔ ของมหาวิทยาลัยมหิดล

วันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๓๖/๒๕๖๔ ของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อกำหนดเป้าหมายแผนดำเนินการ ปีงบประมาณ ๒๕๖๔ – ๒๕๖๕ และรับฟังถึงผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งการพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  พร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น ผ่านระบบออนไลน์  โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้

การดำเนินงานตามเป้าหมายและแผนการดำเนินการที่ส่วนงานได้เสนอไว้ (ปีงบประมาณ ๒๕๖๓-๒๕๖๔)
    ๑. ยุทธศาสตร์ด้านการวิจัย – สร้าง MU –MRC และกลุ่มนักวิจัยสำเร็จรูปให้ได้ ๖ กลุ่ม (Flagship 1)
    – พัฒนาและวางระบบศูนย์เครื่องมือวิจัยกลางศาลายา ให้รองรับการทำวิจัย โดยใช้เทคนิคระดับสูง โดยการเพิ่มเครื่องมือที่จำเป็นให้เพียงพอและทันสมัย คล่องตัว
    – การเพิ่มการขอทุนจากต่างประเทศ
    – แก้ไขระเบียบการบริหารเงินทุนวิจัย
    ๒. ยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา
    – สามารถเปิดหลักสูตรที่เป็น Flexi Education ได้สำเร็จ (Flagship 2)
    – จัดทำ Mahidol University Credit Unit Bank System ได้แล้วเสร็จและสามารถวางระบบเชื่อมโยงกับทุกส่วนงานได้สำเร็จ (Flagship 2)
    – วางระบบการพัฒนานักศึกษาให้เป็น Global Talent ผ่านแนวคิด MU-HIDEF ให้แล้วเสร็จ
    – ร้อยละ ๑๕ ของหลักสูตรได้รับ International Accreditation
    ๓. ยุทธศาสตร์ด้านการบริการวิชาการ
    – มี Platform ระบบบริการวิชาการระดับมหาวิทยาลัย (Flagship 3)
    – ผลักดันให้มีนโยบายชี้นำสังคมจากมหาวิทยาลัยมหิดล (Flagship 3)
    – หน่วยบริการวิชาการที่ได้รับรองมาตรฐานระดับชาติและนานาชาติ
    ๔. ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการเพื่อการยั่งยืน
    – ผลักดันให้มหาวิทยาลัยได้ TQC Plus
    – สร้าง Global Talent Platform ด้านการวิจัยให้แล้วเสร็จ (Flagship 4.1)
    – อันดับ Green University Ranking ไม่ต่ำกว่าอันดับ ๘๐
    – ได้รับการประเมิน ITA อยู่ในระดับ A
    – ได้รับการจัดอันดับ THE Impact Ranking ไม่ต่ำกว่าอันดับ ๓๐๐
    – Digital Convergence University มีความสำเร็จถึงร้อยละ ๗๐
    – สร้างความเข้มแข็งให้กับ Joint Unit ที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อตอบโจทย์ Multidisciplinary และ International
    – Collaboration กับ Strategic Partner
    – จัดตั้ง Mahidol Endowment Fund ให้สำเร็จ (Flagship 4.2)
    – จัดตั้ง Ranking Unit
    – จัดทำฐานข้อมูล BI ได้ร้อยละ ๖๐
    – EBITDA เป็นบวกทุกส่วนงาน

    เป้าหมายที่จะดำเนินการเพิ่มเติมในอีก ๒ ปีข้างหน้า ได้แก่
    ๑. ผลักดันอันดับ Ranking ของมหาวิทยาลัยระดับโลก อยู่ในอันดับ ๑-๑๐๐ ของ Subject Ranking สาขา Medicine และ Pharmacy & Pharmacology อยู่ในลำดับที่ ๑๐๑-๒๐๐ ของ THE Impact Rankings
    ๒. สนับสนุนให้กลุ่มนักวิจัยสำเร็จรูปผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพระดับสูง และได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Q1
    ๓. สนับสนุนผลงานวิจัยตีพิมพ์ทางด้านสังคมศาสตร์ฯ
    ๔. ผลักดันให้หลักสูตรระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยได้รับการรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานสากล
    ๕. การพัฒนาคุณภาพอาจารย์ตามเกณฑ์ MUPSF
    ๖. มาตรฐานที่ถูกสร้างโดยมหาวิทยาลัย
    ๗. การดำเนินการ Central Operating System
    ๘. ข้อมูลด้านการเงินแบบ Real time
    ๙. การพัฒนาศักยภาพบุคลากร (Talent Management)

    ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้กล่าวชื่นชมอธิการบดี และทีมบริหารที่ร่วมแรงร่วมใจบริหารมหาวิทยาลัยได้ก้าวหน้าอย่างดียิ่งในทุกพันธกิจ และขอให้มหาวิทยาลัยปลูกฝัง Sustainable Development Goals เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกด้านให้แก่นักศึกษาและบุคลากรทุกระดับ และนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่สนใจของตลาดให้ทันต่อความต้องการ เช่น กระชายขาวต้านโควิด ชุดตรวจ Antigen Test Kit และวัคซีน covid-19 เป็นต้น รวมทั้ง การสร้างระบบ/กระบวนการความร่วมมือระหว่างส่วนงานเพื่อผลิตผลงานวิจัยและวิชาการร่วมกัน และดำเนินการแก้ปัญหาความล่าช้าการบริหารจัดการเงินทุนวิจัย พิจารณากฏระเบียบด้านการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล การนับอายุงานจริงตั้งแต่เริ่มปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย จัดตั้งโรงเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษา เพื่อเป็นสวัสดิการการศึกษาแก่บุตรหลานของบุคลากร นอกจากนี้ สนับสนุนและเสนอการต่อยอดพัฒนา Application WE MAHIDOL ให้เป็น EDUCATION LIFE และผลักดันให้อาจารย์เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการมากขึ้น ในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ควรเพิ่มขีดความสามารถของหน่วยงานที่ดูแลเรื่องตำแหน่งทางวิชาการให้มากยิ่งขึ้น