เสวนา MU-New Normal วิถีปกติใหม่ในมหาวิทยาลัยมหิดล ในหัวข้อเรื่อง IT วิถีปกติใหม่กับการเว้นระยะห่างทางสังคมในมหาวิทยาลัยมหิดล

มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนา MU-New Normal วิถีปกติใหม่ ในมหาวิทยาลัยมหิดล ในหัวข้อ “IT วิถีปกติใหม่กับการเว้นระยะห่างทางสังคมในมหาวิทยาลัยมหิดล” วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๓ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนา MU-New Normal วิถีปกติใหม่ ในมหาวิทยาลัยมหิดล ในหัวข้อ “IT วิถีปกติใหม่กับการเว้นระยะห่างทางสังคมในมหาวิทยาลัยมหิดล” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดรธัชวีร์ ลีละวัฒน์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและวิทยาเขตกาญจนบุรี และ รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ร่วมการเสวนา โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญยศ ปลื้มปิติวิริยะเวช และอาจารย์ ดร.วันวิสาข์ ศรีสุเมธชัย สมาชิกสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และ รองศาสตราจารย์ ดร.นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร ร่วมรับฟังการเสวนาในครั้งนี้ ณ ห้องประชุม 411 ชั้น 4 ศูนย์การเรียนรู้มหิดล ศาลายา

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า เนื่องจากระบบ IT มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นรูปแบบ New Normal ทางด้าน IT จึงมีอายุไม่นานมาก ซึ่งเป็นรูปแบบนี้มาหลายปี จะเห็นได้จากปัจจุบัน สื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ถูกแทนที่ด้วย สื่อดิจิตอล ซึ่งข้อมูลเปิดเผยว่า สมาร์ทโฟน และโน๊ตบุ๊ค เป็นอุปกรณ์ลำดับต้นๆที่ถูกนำมาใช้ในช่วงวิกฤตนี้ เพราะสามารถใช้แทนอุปกรณ์ได้หลายอย่าง ทั้งยังสามารถสร้างความเป็น Social Distancing ได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลมีความพร้อมที่จะสนับสนุนให้นักศึกษาและบุคลากรนำอุปกรณ์เหล่านี้มาใช้ในช่วงสถานการณ์ Covid-19 และช่วงที่เกิดภาวะคุกคาม โดยมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระเบียบ ครอบคลุมทั้งในเรื่องการเรียนการสอน รวมถึงสภาพความเป็นอยู่ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างดี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธัชวีร์ ลีละวัฒน์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและวิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งเน้นการเป็น Digital University จึงมีการวางกรอบในการใช้ระบบ IT เข้ามาสนับสนุนการทำงาน การเปลี่ยนแปลงด้าน IT ภายในมหาวิทยาลัยจึงมีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง ตามลำดับ แต่ด้วยสถานการณ์ Covid-19 ทำให้ระบบที่มหาวิทยาลัยวางแผนไว้ถูกนำมาใช้เร็วขึ้น และเกิดการยอมรับในเทคโนโลยีทั้งในกลุ่มนักศึกษาและบุคลากร มากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะไม่ย้อนกลับไปใช้วิธีการเรียนการสอนและปฏิบัติงานแบบเดิมๆ ซึ่งความท้าทายของมหาวิทยาลัย คือการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้งานทางด้าน IT เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรสามารถใช้งานได้แบบ Anywhere Anyplace Anytime ด้วยการเร่งสร้าง Platform ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน การเรียนการสอน ให้ครอบคลุมและตอบสนองยุทธศาสตร์ต่างๆของมหาวิทยาลัยให้มากที่สุด

รองศาสตราจารย์ ดร. กิติกร จามรดุสิต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในส่วนของพื้นที่ส่วนกลางภายในมหาวิทยาลัยนั้น กองกายภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้รับผิดชอบ และพื้นที่ของส่วนงานก็จะเป็นหน้าที่ของส่วนงานนั้นๆรับผิดชอบเป็นหลัก ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลดำเนินการตามคำสั่งของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) อย่างเคร่งครัดในการควบคุมระยะห่าง ทั้งนี้ ในส่วนของห้องเรียนและบริการต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยมีบริการให้นักศึกษาและบุคลากร ได้มีการดูแลเรื่องการเว้นระยะห่าง สุขอนามัย และการรักษาความสะอาดอย่างเคร่งครัด โดยมหาวิทยาลัยได้ทำเป็นคู่มือเพื่อให้ส่วนงานต่างๆได้นำไปปรับใช้ตามความเหมาะสมและเป็นมาตรฐานเดียวกัน