นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๓๗/๒๕๖๔ ของสถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา

วันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๓๗/๒๕๖๔ ของสถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา เพื่อกำหนดเป้าหมาย แผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๔ – ๒๕๖๕ และรับฟังผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งการพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธันย์ สุภัทรพันธุ์ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา พร้อมด้วยผู้บริหารสถาบันฯ เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ Cisco Webex Meetings โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้

การดําเนินงานตามเป้าหมายที่ผ่านมาและคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
๑. การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในสังคมและประเทศชาติ ในโครงการต่อไปนี้
– โครงการร่วมวิจัยและพัฒนาร่วมกันในการวิเคราะห์สารออกฤทธิ์ยับยั้งการพัฒนาการลูกน้ำยุงในกลุ่ม non-nicotine จากกากวัตถุดิบในกระบวนการกลั่นสุราและยาสูบ
– โครงการร่วมวิจัยกับ WADA Accredited Laboratory เป็นการทำงานพัฒนาเทคนิคการวิเคราะห์สารต้องห้าม โดยมีการทำงานวิจัยร่วมกับ Doping Lab IMIM ประเทศสเปน
– โครงการ Transcriptomic responses in blood cells treated with the anabolic agents
– โครงการสังเคราะห์สารมาตรฐานในการตรวจสอบสารต้องห้าม Norclostebol ด้วยทุน PCC
๒. การถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องสารต้องห้าม ในโครงการผลิตตำราเรื่องสารตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา และโครงการความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ
๓. ยกระดับห้องปฏิบัติการให้อยู่ระดับแนวหน้า และคงไว้ซึ่งการรับรองมาตรฐานสากล เช่น โครงการยกระดับ ห้องปฏิบัติการ NDCC และ โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศ (LIM)

เป้าหมายที่จะดำเนินการเพิ่มเติมในอีก ๒ ปีข้างหน้า
๑. ผลิตนักศึกษาที่เป็นที่ต้องการของหน่วยงานต่างๆ
๒. ผลิตงานวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาครัฐและเอกชน
๓. มีห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานระดับสากล อาทิ WADA NATA

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กล่าวชื่นชมการดำเนินงานของสถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา พร้อมเสนอแนะให้สถาบันฯ จ้างบุคลากรต่างชาติ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและยกระดับความเป็นนานาชาติให้กับสถาบันฯ ให้ความรู้ในการเลือกบริโภคอาหาร ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และยาให้แก่นักกีฬา เนื่องจากปัจจุบันมีสารต้องห้ามทางการกีฬาปนเปื้อนอยู่ในอาหารจำนวนมาก พัฒนาการสร้างเสริมสุขภาพในระบบอื่น เช่น การจัดทำ Health Promotion หรือ Health Warning นอกเหนือจากการตรวจสารต้องห้ามทางการกีฬา มีการบูรณาการร่วมกับส่วนงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย โดยจัดทำเป็น Virtual Classroom ได้ และวางนโยบายและกลยุทธ์ในการบริหารสถาบันฯ ให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป