มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายจัดอบรมหลักสูตรธุรกิจสุขภาพและการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 2 WELLNESS & HEALTHCARE BUSINESS OPPORTUNITY PROGRAM FOR EXECUTIVES (WHB)

วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “The Future of Thai Healthcare and Wellness Business During and Post Covid-19 crisis: Opportunities and Challenges” ในการอบรมหลักสูตรธุรกิจสุขภาพและการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ ๒ WELLNESS & HEALTHCARE BUSINESS OPPORTUNITY PROGRAM FOR EXECUTIVES (WHB) โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดโครงการอบรม พร้อมกล่าวปฐมกถา โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ก้องเขต เหรียญสุวรรณ รองอธิการฝ่ายบริหาร รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รองศาสตราจารย์ ดร.ยาใจ สิทธิมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิตา รักธรรม คณบดีวิทยาลัยการจัดการ และรองศาสตราจารย์ ดร.สราวุธ เทพานนท์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมการอบรม ณ ห้องประชุมสุขุมวิท ๑-๔ ชั้น ๓ JW Marriott Hotel Bangkok ถนนสุขุมวิท ซอย ๒ กรุงเทพฯ

ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึง Health & Wellness คือ การรักษาสุขภาพให้ดี การอยู่ดีมีสุข การใช้ชีวิตให้มีศักยภาพสูงสุด คือสิ่งที่สำคัญที่สุด และการตั้งเป้าในอนาคตให้ประเทศไทยเป็น ‘ผู้นำการแพทย์จีโนมิกส์’ ของอาเซียนใน ๕ ปี ข้างหน้า นอกจากนี้ ได้เน้นในเรื่องแนวทางการพัฒนาไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพ ๔ ด้าน ได้แก่ ๑. Wellness Hub ที่เป็นการบริการอย่างครบวงจร ๒. Medical Service Hub ที่บูรณาการระบบการทำงานเพื่อสร้างสุขภาพการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ต่อยอดกับระบบสปาซึ่งถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทยและเป็นจุดหนึ่งที่หลายประเทศเข้ามาใช้บริการ ๓.Academic Hub ที่เกี่ยวกับสุขภาพ และ ๔. Product Hub เพื่อสร้างความพร้อมให้ไทยมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ ในประชาคมอาเซียนยกระดับการให้บริการด้านสาธารณสุขทั้งบุคลากรและมาตรฐานการให้บริการ เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการให้บริการอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

สำหรับการอบรมหลักสูตรธุรกิจสุขภาพและการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ ๒ จัดขึ้น ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดล กับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข The Department of Community and Global Health, The University of Tokyo, Huawei Technologies (Thailand) Co., Ltd. และ บริษัท Siam Health Development เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้อุตสาหกรรมทางการแพทย์ครบวงจรเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตของประเทศไทย รวมทั้งมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบริการด้านสุขภาพและการแพทย์ของโลก โดยมีเป้าประสงค์ให้ผู้บริหารและผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและการแพทย์ในประเทศไทย และผู้ที่สนใจธุรกิจด้านนี้ตระหนักถึงความก้าวหน้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์สมัยใหม่ รวมถึงเล็งเห็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Wellness & Healthcare ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของ Covid-19 และเป็นการตอบสนองนโยบายที่สำคัญของมหาวิทยาลัยมหิดล ทางด้านการให้บริการวิชาการโดยเฉพาะทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศ

สภามหาวิทยาลัยมหิดล จัดบรรยายพิเศษ เรื่อง “นโยบายและทิศทางการบูรณาการงานด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”

วันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวต้อนรับ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในโอกาสมาบรรยายพิเศษ เรื่อง “นโยบายและทิศทางการบูรณาการงานด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” ในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ ๕๗๙ ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง ชั้น ๕ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และผ่านระบบออนไลน์

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ได้กล่าวถึง นโยบายการดำเนินงานของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่สอดรับกับนโยบายรัฐบาล และการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทางด้านการศึกษาอย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในระบบการเรียนการสอน และการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เช่น การจัดสอบ GAT/PAT สำหรับเด็กนักเรียนที่มีอาการเล็กน้อย มีความเสี่ยงสูง หรือนักเรียนที่อยู่ระหว่างการรักษาอาการของโรคโควิด-19 ให้สามารถเข้าสอบได้ โดยความร่วมมือของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นในการเสริมจุดแข็ง การสร้างองค์ความรู้ที่มุ่งเน้นการวิจัยเพื่อเป็นการวางรากฐานสำหรับอนาคต การพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ และการสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับภาคอุตสาหกรรมในการผลิตกำลังคนระดับสูง ผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น การบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน (Work-integrated Learning) การสร้างตลาด งานวิจัยที่ท้าทายสำหรับนักวิจัยที่มีศักยภาพ ทั้งสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัย ของรัฐ และภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญด้านการวิจัย สร้างสรรค์นวัตกรรมของประเทศ

มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับบริษัท WHA Group เข้าประชุมหารือจัดตั้ง Centralized Warehouse เพื่อโรงพยาบาลศิริราช

วันที่ 5 เมษายน 2565 ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมประชุมหารือการจัดตั้ง Centralized Warehouse เพื่อโรงพยาบาลศิริราช พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ และ คุณจรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อหารือแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานร่วมกันสำหรับความเป็นไปได้ในการจัดตั้งคลังกลางด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ ที่จะช่วยให้เกิดการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์และต้นทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผ่านทางระบบออนไลน์

การจัดตั้ง Centralized Warehouse เพื่อโรงพยาบาลศิริราช ในครั้งนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์มุ่งหวังจะให้เป็นหนึ่งในโครงการ Start Up ของมหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นต้นแบบของการจัดการด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพของโรงพยาบาลและองค์กรด้านสุขภาพในประเทศไทย แนวทางการจัดตั้งจะเป็นความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลและกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มีความพร้อมด้านการบริการโลจิสติกส์ 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่
1. ธุรกิจพัฒนาและบริหารอสังหาริมทรัพย์ (Logistic Hub)
2. ธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรม (Industrial Development Hub)
3. ธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภคและพลังงาน (Utilities & Power)
4. ธุรกิจให้บริการด้านดิจิทัล (Digital Platform Hub)

คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลล แถลงข่าวเปิดตัว “สิรินเด้นท์” ยาสีฟันสมุนไพรน้ำมันมะพร้าวเพื่อรักษาสุขภาพและเพิ่มความชุ่มชื่นในช่องปาก

มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนางานวิจัยสู่… สิรินเด้นท์ ยาสีฟันสมุนไพรน้ำมันมะพร้าว มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราในช่องปากที่ก่อให้เกิดฟันผุ เหงือกอักเสบ ลดกลิ่นปาก และลดอาการปากแห้ง ช่วยดูแลสุขภาพของช่องปากได้อย่างมีประสิทธิภาพ เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ (วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๕) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

ยาสีฟัน “สิรินเด้นท์” เป็นยาสีฟันที่มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายอนุสิทธิบัตรแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้ผลิต และใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวว่า “สิรินเด้นท์” ชื่อภาษาอังกฤษ “Sirindent”

คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนายาสีฟันที่มีคุณสมบัติในการกำจัดเชื้อและสามารถเพิ่มความชุ่มชื้นภายในช่องปาก เนื่องจากผลการวิจัยพบว่าผู้ที่มีปัญหาริมฝีปากและภายในช่องปากแห้งจากสภาวะต่าง ๆ หรือผู้ป่วยที่ได้รับยาบางชนิด ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ที่ต้องสวมหน้ากากอนามัยเป็นระยะเวลานาน มักจะก่อให้เกิดภาวะปากแห้ง ส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่อยู่ในช่องปากมีการสะสม และก่อให้เกิดโรคในช่องปากได้ง่ายขึ้น

จากกระแสของแพทย์ทางเลือก (Alternative Medicine) ได้มีการนำศาสตร์ทางอายุรเวทมาใช้ในการดูแลสุขภาพช่องปาก ได้แก่ การทำ oil pulling หรือ oil swishing (การใช้น้ำมันในการอมกลั้วปากแล้วบ้วนทิ้ง) เชื่อว่ากระบวนการนี้มีประโยชน์ในการป้องกันโรคในช่องปาก ได้แก่ ฟันผุ เหงือกอักเสบ กลิ่นปาก และปากแห้ง โดยมีบทความเป็นจำนวนมากที่สนับสนุนคุณสมบัติดังกล่าว สรุปได้ว่า น้ำมันมะพร้าว มีฤทธิ์ต้านเชื้อที่ทำให้เกิดโรคในช่องปากได้แก่ ฟันผุ เหงือกอักเสบ และเชื้อรา มีประสิทธิภาพทำความสะอาด cleansing properties จากการสามารถทำให้เกิด saponification การลดเกาะของ plaque โดยไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองจากการที่ไม่มีส่วนผสมของ Sodium lauryl sulfate (SLS) ซึ่งเป็นสารทำให้เกิดฟอง รวมทั้งเป็น Oral moisturizer ที่ดี ในการเพิ่มความชุ่มชื้นภายในช่องปากจากการเคลือบของน้ำมันบนผิวเยื่อบุในช่องปาก

แนวคิดในช่วงแรกเริ่มจากคุณหญิงชวลี อมาตยกุล รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้นำความมาปรึกษา ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ ทพญ. ดร.ธีรลักษณ์ สุทธเสถียร เนื่องจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริ ว่ายาสีฟันสมุนไพรของไทยส่วนใหญ่จะเป็นผง มีส่วนประกอบที่เป็นสมุนไพรที่ล้วนแต่มีประโยชน์น่าจะได้ศึกษาถึงคุณสมบัติต่าง ๆ และนำไปใช้เป็นองค์ประกอบของยาสีฟันได้ดี ทางคุณหญิงชวลีจึงเห็นสมควรที่ได้ร่วมกันพิจารณาถึงการนำสมุนไพรไทยและน้ำมันมะพร้าว ที่ทาง คณะทันตแพทยศาสตร์ กำลังศึกษาอยู่มาเป็นองค์ประกอบของยาสีฟัน เพื่อใช้ในผู้สูงอายุ หลังจากได้พิจารณาถึงส่วนประกอบของยาสีฟันที่เป็นลักษณะ paste ร่วมกับส่วนประกอบของยาสีฟันสมุนไพรไทยที่มีลักษณะเป็นผง และดำเนินการจัดหาส่วนผสมต่าง ๆ แล้ว จึงได้ทำการทดลองผสมยาสีฟันดังกล่าวเป็นครั้งแรก ณ วังสระปทุม

ต่อมาได้มีการพัฒนาสูตรทำให้ได้องค์ประกอบของยาสีฟันที่มีส่วนผสมของน้ำมันมะพร้าวซึ่งเป็น Oral moisturizer โดยมีส่วนประกอบของน้ำมันมะพร้าวในยาสีฟันสูงถึงเกือบ ๓๐% สามารถเพิ่มความชุ่มชื้นภายในช่องปาก มีส่วนผสมของสมุนไพรหลายชนิด เช่น สารสกัดจากเปลือกมังคุด กานพลู ข่อย อบเชย สะระแหน่ และแอนโทไซยานิน เป็นต้น ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคฟันผุ เหงือกอักเสบและเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคในช่องปาก รวมทั้งมีส่วนผสมของเกลือ ประมาณ ๕% จึงช่วยรักษาสุขภาพภายในช่องปาก ป้องกันการก่อตัวของคราบหินปูน ช่วยลดการเกิดและสะสมของแบคทีเรีย ลดฟันผุ รักษาสมดุลในช่องปาก ลดโรคที่เกิดจากเชื้อราในช่องปาก และยังมีกลิ่นหอมจากสมุนไพรไทยอีกหลายชนิด สามารถลดกลิ่นปากหอมสดชื่น ช่วยดูแลสุขภาพของช่องปากได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากการทดสอบคุณสมบัติของยาสีฟันโดยสำนักงานการวิจัย คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่ายาสีฟันสิรินเด้นท์สามารถฆ่าเชื้อก่อโรคที่สำคัญในช่องปาก ได้แก่ เชื้อก่อโรคฟันผุ เชื้อก่อโรคปริทันต์อักเสบ และเชื้อราก่อโรคเยื่อบุ ผลการทดสอบยาสีฟันในห้องทดลอง Cytotoxicity test ไม่มีผลการระคายเคืองต่อเยื่อบุผิวและไม่มีความเป็นพิษ นอกจากนั้นกล่องและหลอดที่เป็นบรรจุภัณฑ์ ยังเป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ยาสีฟันสมุนไพรน้ำมันมะพร้าวของไทย เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ผลผลิตภายในประเทศเป็นส่วนประกอบ อันจะเป็นการสนับสนุนในการต่อยอดในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกประการหนึ่ง เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะทันตแพทยศาสตร์ และหน่วยงานต่าง ๆ ในหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพที่ดี เพื่อให้ผลผลิตดังกล่าวสามารถกระจายสู่สาธารณชน ดังนั้นเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการเป็นตัวแทนนำสินค้าออกจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ยาสีฟันสิรินเด้นท์ ระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดล กับ บริษัท โอเร็กซ์ เทรดดิ้ง จำกัด ณ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ดำเนินการผลิตยาสีฟัน สิรินเด้นท์ ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ ๑๑๙๐๕ เพื่อใช้ทางสาธารณประโยชน์และจัดจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ (วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๕) คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กำหนดจัดพิธีถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พร้อมจัดงานแถลงข่าว ผลสำเร็จการพัฒนา “สิรินเด้นท์” ยาสีฟันสมุนไพรน้ำมันมะพร้าว เพื่อรักษาสุขภาพและเพิ่มความชุ่มชื้นในช่องปาก” ในวันศุกร์ที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๕ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น. เป็นต้นไป โดยรับเกียรติจาก ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร (นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล) ร่วมแถลงในหัวข้อ “นโยบายมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง การสนับสนุนการวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์” รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ (รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล) ร่วมแถลงในหัวข้อ “สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) ที่เป็นองค์กรในมหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการด้านผลิตภัณฑ์” และรองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ทันตแพทย์ศิริชัย เกียรติถาวรเจริญ (คณบดี คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) ร่วมแถลงในหัวข้อ “สิรินเด้นท์” ยาสีฟันสมุนไพรน้ำมันมะพร้าว พร้อมตอบข้อซักถามจากสื่อมวลชน ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๕๐ พรรษา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

มหาวิทยาลัยมหิดล สัมมนาร่วมระหว่างคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และผู้บริหารส่วนงาน (Retreat) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕

วันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ ศาสตราจารย์ คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดการสัมมนาร่วมระหว่างคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และผู้บริหารส่วนงาน (Retreat) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ หัวข้อ “แนวทางการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงรอบด้าน” และให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยาย เรื่อง “มุมมองของสภามหาวิทยาลัยต่อการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย” โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยทีมรองอธิการบดีทุกฝ่าย ศาสตราจารย์คลินิกพิเศษ นายแพทย์เสรี ตู้จินดา อุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ คุณหญิงลักษณาจันทร เลาหพันธุ์ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล คุณมนูญ สรรค์คุณากร รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล อาจารย์ ดร.ธิติคม พัวพันสวัสดิ์ ประธานสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ผู้บริหารส่วนงานมหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมการประชุม ณ โรงแรม อวานีพลัส หัวหิน รีสอร์ท จังหวัดเพชรบุรี ทั้งนี้ การสัมมนาจัดขึ้นเป็นเวลา ๒ วัน ระหว่างวันที่ ๑๘-๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ เพื่อผลักดันการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้

โดยในวันแรก เป็นการนำเสนอการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้นำเสนอ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ก้องเขต เหรียญสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร นำเสนอผลและแผนการดำเนินงาน ด้านกฎ ระเบียบ ข้อบังคับและกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารมหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ นายแพทย์วชิร คชการ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นำเสนอผลและแผนการดำเนินงานด้าน การบริหารทรัพยากรบุคคล รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรายุทธ สุภาพรรณชาติ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารสินทรัพย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอื้อมพร มัชฌิมวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายการคลัง และ รองศาสตราจารย์ ดร.นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร นำเสนอผลงานและแผนการดำเนินงาน ด้าน Endowment and Branding ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัชวีร์ ลีละวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและวิทยาเขตกาญจนบุรี นำเสนอผลและแผนการดำเนินงานด้าน Digital Transformation ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และ รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม นำเสนอผลและแผนการดำเนินงานด้าน การวิจัยและนวัตกรรม รองศาสตราจารย์ ดร. ภก.เนติ สุขสมบูรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ร.ท. ทพ.ชัชชัย คุณาวิศรุต รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ นำเสนอผลและแผนการดำเนินงาน ด้าน การศึกษาและกิจการนักศึกษา รองศาสตราจารย์ ดร. ภก.สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ และ รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน นำเสนอผลและแผนการดำเนินงานด้าน การบริการวิชาการ

วันที่สองของการสัมมนา เป็นการสรุปประเด็นแนวทางการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลในแต่ละด้าน โดยมีทีมรองอธิการบดีทุกฝ่าย ร่วมสรุปประเด็นในแต่ละด้าน และ รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สรุปภาพรวมกลยุทธ์เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย

จากนั้น ศาสตราจารย์ คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ได้สรุปแนวคิดและมุมมองของสภามหาวิทยาลัยในประเด็นต่าง ๆ ในการดำเนินการที่ผ่านมาของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อผลักดันการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้

มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแสดงความยินดีกับส่วนงานที่ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award: TQA) ประจำปี ๒๕๖๔

วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล มอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีแก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และ ศาสตราจารย์ ดร. ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ ในโอกาสที่ มหาวิทยาลัยมหิดลและส่วนงานได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award: TQA) ประจำปี ๒๕๖๔ ในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ ๕๗๘ โดยมี คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยร่วมแสดงความยินดี ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

มหาวิทยาลัยมหิดล และส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award: TQA) ประจำปี ๒๕๖๔ ดังนี้
๑. มหาวิทยาลัยมหิดล รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class)
๒. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้รับ ๒ รางวัล ได้แก่
๒.๑ รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรม (Thailand Quality Class Plus : Innovation)
๒.๒ รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class) ให้แก่ บริษัท อาร์เอฟเอส จำกัด ในฐานะบริษัทภายใต้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
๓. คณะเทคนิคการแพทย์ รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class)
โดยสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ จะจัดพิธีมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๖๔ ในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๕

มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานครบรอบ “๕๓ ปี วันพระราชทานนาม และ ๑๓๔ ปี มหาวิทยาลัยมหิดล”

วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๕ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานครบรอบ “๕๓ ปี วันพระราชทานนาม และ ๑๓๔ ปี มหาวิทยาลัยมหิดล” โดยมี ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บริหารส่วนงาน และผู้เเทนส่วนงาน ร่วมในพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะพระรูปสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

พิธีมอบวุฒิบัตรหลักสูตร Wellness & Healthcare Business Opportunity for Executives (WHB) รุ่นที่ ๑

วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๕ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานมอบวุฒิบัตรในพิธีปิดการอบรมหลักสูตร Wellness & Healthcare Business Opportunity for Executives (WHB) รุ่นที่ ๑ ให้แก่ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรชั้นนำต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนที่ผ่านการอบรมจำนวน ๑๐๒ คน ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวปัจฉิมกถา และนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาพิเศษ ณ JW Marriot Hotel Bangkok

ทั้งนี้ ผู้บริหารระดับสูงของทางมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าร่วมรับการอบรมฯ และเข้ารับวุฒิบัตรในครั้งนี้ด้วย ได้แก่ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรายุทธ สุภาพรรณชาติ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารสินทรัพย์ รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์

หลักสูตร Wellness & Healthcare Business Opportunity Program for Executives (WHB) เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ Siam Health Development Co., Ltd. กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข The Department of Community and Global Health, The University of Tokyo และ Huawei Technologies (Thailand) Co., Ltd. ที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้อุตสาหกรรมทางการแพทย์ครบวงจรเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตของประเทศไทย โดยสนับสนุนให้มีการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์สมัยใหม่ อีกทั้งสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาปรับใช้ในธุรกิจบริการที่เกี่ยวกับ Wellness & Healthcare มากขึ้น โดยมีเป้าประสงค์ให้ผู้บริหารและผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและการแพทย์ (Wellness & Healthcare) ในประเทศไทย และผู้ที่สนใจธุรกิจด้านนี้ ตระหนักรู้ถึงนวัตกรรมความก้าวหน้าและโอกาสในการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Wellness & Healthcare ตลอดจนการสร้างนวัตกรรมและเครือข่ายธุรกิจใหม่ หลักสูตรนี้ ประกอบไปด้วย 5 ชุดความรู้ ได้แก่ 1.Thailand: World Class Destination for Wellness & Healthcare 2.Health is the New Wealth 3.Digital Transformation and the Future of Wellness & Healthcare 4.Silver is the New Black และ 5.Medical Industry in Post-COVID-19: New Normal Practice

ตัวอย่างผลงานที่เกิดจากความร่วมมือของผู้เข้าอบรมในหลักสูตรฯ อาทิ โครงการความร่วมมือเพื่อสังคมในการพัฒนาผู้ดูแลผู้สูงอายุ ระหว่างกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น และคณะผู้เข้าอบรมหลักสูตร WHB รุ่นที่ ๑ และโครงการความร่วมมือ Thailand Partnership for World Health Destination and Global Wellness Hub ระหว่าง ๙ องค์กร ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) มูลนิธิเพื่อสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สมาคมส่งเสริมอัตลักษณ์การท่องเที่ยวไทยวิถีใหม่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาบริหารธุรกิจภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต (คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) สมาคมแพทย์เวชทั่วไป/เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย และคณะผู้เข้าอบรมหลักสูตร WHB รุ่นที่ ๑ เป็นต้น

สภามหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแสดงความยินดีและมอบโล่รางวัลแก่อาจารย์ผู้สอนในโครงการรางวัลการสอนออนไลน์มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ๒๕๖๓

วันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล มอบโล่รางวัลและร่วมแสดงความยินดี กับ อาจารย์ผู้สอนผู้ได้รับรางวัลการสอนออนไลน์ ในโครงการรางวัลการสอนออนไลน์ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ๒๕๖๓ ในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ ๕๗๖ (๑/๒๕๖๕) โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยร่วมแสดงความยินดี ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โครงการรางวัลการสอนออนไลน์มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นรางวัลที่มอบให้แก่อาจารย์ผู้สอนที่มีผลงานด้านการสอนออนไลน์ดีเยี่ยม เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติ สร้างกำลังใจ รวมถึงเป็นแบบอย่างในการพัฒนางานด้านการสอนออนไลน์ของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท ได้แก่ รางวัลการสอนออนไลน์ ประเภท Outstanding Awards : Online Course Development and Delivery (Full Course) รางวัล Full Online Course : รายวิชา รมคร ๓๐๓ บทนำเวชศาสตร์คลินิก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยมีผู้รับผิดชอบรายวิชา ได้แก่ อาจารย์ นายแพทย์สุรพงศ์ เลิศธรรมเกียรติ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงฉัตรประอร งามอุโฆษ นางสาวศุภนันท์ วัฒนบุตร รางวัลการสอนออนไลน์ ประเภท Learning Innovation for Online Courses Awards : Online Instruction Techniques รางวัล Online Engagement and Motivation Techniques, Innovations and Learning Models : รายวิชา ผกผภ ๓๑๓ ปฏิบัติการเภสัชการ ๓ คณะเภสัชศาสตร์ โดยมีผู้รับผิดชอบรายวิชา ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงอัญชลี จินตพัฒนากิจ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงอมราพร วงศ์รักษ์พานิช ศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงวราภรณ์ จรรยาประเสริฐ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรวีรวัฒน์ ตีรณะชัยดีกุล อาจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงบุญธิดา มระกูล รางวัลการสอนออนไลน์ ประเภท Learning Innovation for Online Courses Awards : Online Instruction Techniques รางวัล Media Design for Online Teaching : รายวิชา ทนจค ๔๑๗ จุลชีววิทยาคลินิก คณะเทคนิคการแพทย์ โดยมีผู้รับผิดชอบรายวิชา ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กนกวรรณ กิตตินิยม รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิงจุไรรัตน์ นิลกุล อาจารย์สุรภี เทียนกริม นายเบญจพล สำราญถิ่น

มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศล และพิธีถวายราชสดุดีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ และวันพ่อแห่งชาติ

วันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ก้องเขต เหรียญสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ รองศาสตราจารย์ ดร.ยาใจ สิทธิมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหืดล ร่วมพิธีทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมี คณะผู้บริหาร บุคลากร และประชาชนเข้าร่วมในพิธี ณ บริเวณพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บริหารส่วนงาน และบุคลากรจากส่วนงานต่าง ๆ เข้าร่วม พิธีทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศล พระสงฆ์ ๓๐ รูป จากวัดมหาสวัสดิ์ ณ บริเวณด้านหน้าสำนักงานอธิการบดี และพิธีถวายราชสดุดีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ และวันพ่อแห่งชาติ โดยมี อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในพิธี ถวายมาลัยราชสักการะพระบรมรูป สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย วางพานพุ่มถวายราชสักการะ จุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเยี่ยมชมนิทรรศการ “พระราชดำรัสในความทรงจำ” พร้อมด้วย ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บริหารส่วนงาน และบุคลากรจากส่วนงานต่าง ๆ