นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๒๐/๒๕๖๔ ของศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ

วันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๒๐/๒๕๖๔ ของศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ เพื่อกำหนดเป้าหมาย แผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๔ – ๒๕๖๕ และรับฟังผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้ง การพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ รักษาการแทน ผู้อำนวยการศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหารศูนย์ เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น ผ่านการประชุมออนไลน์ โดยมีประเด็น ดังต่อไปนี้

การดำเนินการตามเป้าหมายที่ผ่านมาและคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
๑. เพิ่มจำนวนการให้บริการสัตว์ทดลอง โดยเฉพาะ หนูตะเภา กระต่าย ให้เพียงพอต่อความต้องการของ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๒. ยกระดับคุณภาพสุขภาพ หนูเม้าส์จากสัตว์ทดลองในระดับ Monitor animal เป็นสัตว์ทดลองในระดับ Specific Pathogen Free (SPF) animals พัฒนาบุคลากร โดยการจัดทำโครงการฝึกปฏิบัติการดูแลหนูเม้าส์ในตู้เลี้ยงสัตว์ปลอดเชื้อสมบูรณ์ การปรับปรุงสิ่งก่อสร้าง พัฒนาการตรวจสอบคุณภาพสุขภาพสัตว์ทดลอง
๓. วิจัยพัฒนาและยกระดับความสามารถทางห้องปฏิบัติการ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสุขภาพ เพื่อรองรับการผลิตสัตว์ SPF และรองรับการให้บริการแก่ลูกค้าภายนอก จัดหาอุปกรณ์เพื่อเตรียมพร้อมของห้องปฏิบัติการ ในการตรวจคุณภาพสุขภาพ การฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี
๔. ขยายและเพิ่มขีดความสามารถของหน่วยงาน ให้บริการวิจัยและทดสอบผลิตภัณฑ์ตามหลักการ OECD GLP วิธีการทดสอบความเป็นพิษกึ่งเรื้อรัง และการทดสอบความเป็นพิษของวัคซีน แบบให้ครั้งเดียวและแบบให้ซ้ำ

เป้าหมายที่จะดำเนินการเพิ่มเติมในอีก ๒ ปีข้างหน้า
๑. ยกระดับคุณภาพสุขภาพ หนูเม้าส์จากสัตว์ทดลองในระดับ Monitor animals เป็นสัตว์ทดลองในระดับ Specific Pathogen Free (SPF) Animals
๒. วิจัยพัฒนา และยกระดับความสามารถ ทางห้องปฏิบัติการเพื่อรองรับการเป็นศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสุขภาพสัตว์ทดลองของประเทศ
๓. ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานให้บริการวิจัย และทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ (หน้ากากอนามัยและหน้ากากชนิด N95) จาก สมอ.
๔. ศูนย์ตรวจสอบความปลอดภัยด้านเครื่องมือแพทย์ ในปี ๒๕๖๕
๕. ขยาย และเพิ่มขีดความสามารถของหน่วยงาน ให้บริการวิจัยและทดสอบผลิตภัณฑ์ ตามหลักการ OECD GLP อย่างน้อย ๒ วิธีการทดสอบต่อปี
๖. บริหารจัดการวัสดุรองนอนที่ใช้แล้ว (Soiled bedding Management) เพื่อการจัดการอย่างยั่งยืน
๗. การบริหารจัดการ การใช้พลังงานไฟฟ้า โดยการใช้พลังงานทดแทน (Solar Cell) เพื่อลดค่าไฟฟ้าของศูนย์ฯ
๘. พัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สัตว์ทดลอง

ทั้งนี้ ที่ประชุม ได้กล่าวชื่นชมและสนับสนุนแนวทางการดำเนินงานของศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ ที่ทุ่มเทพัฒนา ยกระดับความสามารถ และใช้ระบบมาตรฐานสากล ในการปฏิบัติงาน รวมทั้งสามารถธำรงรักษาระบบมาตรฐานคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและประเทศชาติ และทำให้ศูนย์ฯ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง อีกทั้งด้านการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของอาคารสถานที่ ได้เสนอให้รับการสนับสนุนจากเงินงบประมาณแผ่นดิน โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ เสนอให้ของบประมาณแผนงานบูรณาการ Eastern Economic Corridor (EEC) ด้วยศูนย์ฯ มีศักยภาพในการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG model ซึ่งช่วยในการสร้างเศรษฐกิจของประเทศในภาคการส่งออก นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เสนอแนะให้ศูนย์ฯ พิจารณาเพิ่มเติมบริการวิจัยทดสอบผลิตภัณฑ์ เกี่ยวกับของเล่นเด็ก เพื่อให้มีมาตรฐานความปลอดภัยยิ่งขึ้น