นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๓๔/๒๕๖๔ ของโรงเรียนสาธิตนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล

วันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๓๔/๒๕๖๔ ของโรงเรียนสาธิตนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อกำหนดเป้าหมาย แผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๔-๒๕๖๕ และรับฟังผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งการพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วิริยา ชินวรรโณ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตนานาชาติ พร้อมด้วยผู้บริหารโรงเรียน เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ Cisco Webex Meetings โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้

การดําเนินงานตามเป้าหมายที่ผ่านมาและคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
๑. การพัฒนาอาคารสถานที่ และสภาพแวดล้อม โดยพัฒนาห้องเรียน ห้องประกอบการ และปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในโรงเรียนให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและจำนวนนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้น
๒. การเพิ่มรายวิชาที่ทันต่อยุคสมัย
๓. การพัฒนาความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ ทั้งการแข่งขันระดับชาติและนานาชาติ เช่น แข่งขันโอลิมปิก วิชาการ โครงการเพชรยอดมงกุฏ เป็นต้น
๔. การพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

เป้าหมายที่จะดำเนินการเพิ่มเติมในอีก ๒ ปีข้างหน้า
๑. พัฒนาหลักสูตรเพื่อรองรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน
๒. สร้างกิจกรรมใหม่ๆ เพื่อดึงดูดกลุ่มนักเรียนให้มีความสุขกับการเรียนการสอนที่โรงเรียนจัดให้
๓. การปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน
๔. จัดหาแผนคุ้มครองสวัสดิภาพ-อุบัติเหตุสำหรับนักเรียนและผู้ปฏิบัติงานโรงเรียน
๕. พัฒนาระบบ IT Infrastructure ในการรับสมัครนักเรียน เพื่อให้ทันสมัยและเหมาะสมกับบริบทในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กล่าวชื่นชมการดำเนินงานของโรงเรียนสาธิตนานาชาติ ในการสอนทักษะความรู้ควบคู่กับทักษะชีวิต การเชื่อมโยงความร่วมมือด้านต่างๆ กับมหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงความสำเร็จของนักเรียนที่สอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ ๑๐๐% (ในสาขาวิชาที่หลากหลาย) พร้อมทั้งเสนอแนะให้สร้างความร่วมมือด้านโรงเรียนสาธิตฯ กับสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในการขยายหลักสูตรระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อเป็นสวัสดิการแก่บุตรบุคลากร และเสนอให้ทำ Feasibility Study สนับสนุนการวางแผนและการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนแบบผสมผสาน จัดการแนะแนววิชาที่เรียนให้กับนักเรียน เพื่อจะได้ทราบว่าเรียนจบไปแล้วสามารถทำงานอะไรได้ในอนาคต โดยที่ มหาวิทยาลัยสามารถช่วยอำนวยความสะดวกแก่โรงเรียน ในการเชื่อมโยงการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในรูปแบบ Virtual และการปรับตัวให้ล้ำหน้าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเรียนรู้ที่จะอยู่กับ COVID-19 แบบ New Normal