นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๓๕/๒๕๖๔ ของศูนย์จิตตปัญญาศึกษา

วันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๓๕/๒๕๖๔ ของศูนย์จิตตปัญญาศึกษา เพื่อกำหนดเป้าหมาย แผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๔–๒๕๖๕ และรับฟังผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้ง การพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยผู้บริหารศูนย์ฯ เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น ผ่านการประชุมออนไลน์ โดยมีประเด็น ดังต่อไปนี้

การดำเนินการตามเป้าหมายที่ผ่านมาและคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
๑. สร้างสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้+จิตตปัญญาวาส มหาวิทยาลัยมหิดล
๒. พัฒนาหลักสูตรให้เป็น Flexible Education
๓. จิตตปัญญาศึกษาควบรวมกับสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ (แนว PPPO)

เป้าหมายที่จะดำเนินการเพิ่มเติมในอีก ๒ ปีข้างหน้า
๑. ปรับวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ ในการดำเนินการ มุ่งเป้าที่จะดำเนินการเชิงรุกด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม โดยการนำแก่นจิตตปัญญาศึกษา เข้าไปบูรณาการร่วมกับการทำงานผ่านโครงการวิจัยและบริการวิชาการ เช่น (๑) โครงการหยั่งรากจิตตปัญญา สู่สังคมแห่งความสุข (๒) การทำงานผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในการใช้การประเมินเพื่อการพัฒนา (Developmental Evaluation) การศึกษาของเด็กนอกระบบ (๓) โครงการที่ดำเนินการร่วมกับศูนย์คุณธรรม ในการศึกษาและพัฒนากระบวนการรับรององค์กรส่งเสริมคุณธรรม และการศึกษาและพัฒนาโมเดลการสร้างระบบนิเวศมนุษย์เพื่อขับเคลื่อนคุณธรรมในสังคมไทย และ (๔) เผยแผ่ศาสตร์จิตตปัญญาศึกษาผ่านการวิจัย การเรียนการสอน การฝึกอบรมระยะสั้นผ่าน Map Ex, Map C และการบริการวิชาการในลักษณะอื่น ๆ
๒. ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ ดำเนินการให้วิทยาเขตนครสวรรค์เป็น Mindful Campus ขยายสู่สังคมและองค์กรโดยรอบ
๓. ขับเคลื่อนศูนย์จิตตปัญญาโดยใช้โอกาสการครบรอบ ๑๕ ปี ของศูนย์ ด้วยแนวคิด สู่การผลิบาน นำความรู้ประสบการณ์ และการพัฒนาคน/เครือข่ายที่ผ่านมา ขับเคลื่อนสังคมวงกว้าง ผ่านกิจกรรมหลัก ๕ กิจกรรม คือ (๑) กิจกรรมครบรอบ ๑๕ ปี ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา (๒) กิจกรรมชวนให้คนมาภาวนาร่วมกัน ภายใต้ชื่อ “๑๕ ปี จิตตปัญญา พาใจกลับบ้าน” (๓) กิจกรรม Mindful Education เป็นการต่อยอดการขับเคลื่อนงานจิตตปัญญาศึกษาในสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ ผ่านกิจกรรมการสร้างเวทีการแลกเปลี่ยนและเครือข่าย Mindful Education (๔) ขยายเครือข่ายการทำงาน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการศึกษาและการวิจัยด้าน Contemplative/ Mindful Education ในระดับภูมิภาค ผ่านกิจกรรมการประชุมเสวนาออนไลน์ และ (๕) การจัดงานประชุมวิชาการประจำปีในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กล่าวชื่นชมและสนับสนุนแนวทางการดำเนินงานของศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนามนุษย์ให้สมบูรณ์ ควรปลูกฝังและสร้างการรับรู้ด้านจิตตปัญญาศึกษา ตั้งแต่วัยเด็ก และนำองค์ความรู้ที่มีจัดทำเป็น VDO clip เผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อสร้างความตื่นรู้ในตนเอง ยอมรับและเข้าใจผู้อื่น อีกทั้งยังสามารถช่วยลดความตึงเครียดในสถานการณ์วิกฤต COVID-19 ในปัจจุบันได้ รวมทั้งสอดแทรกและบูรณาการองค์ความรู้ด้านจิตตปัญญาศึกษาในทุกหลักสูตร เนื่องจากเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกศาสตร์ควรมีซึ่งนำไปสู่การสร้างสังคมที่ดีได้ต่อไป