พิธีลงนามการจัดทำข้อตกลงการปฏิบัติงานของผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามในการจัดทำข้อตกลงการปฏิบัติงานผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล (Performance Agreement) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2567 – 2570 และมุ่งเน้นแนวทาง Real World Impact ที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และยกระดับการพัฒนามหาวิทยาลัย รวมถึงเชื่อมโยงการทำงานระหว่างสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ส่วนงาน และบุคลากรทุกระดับ ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ 610/2567 ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และผ่านระบบออนไลน์ โดยมี คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมเป็นสักขีพยาน

มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรม “แค่เดินก็ BURN ได้ #1”

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บริหารส่วนงาน ร่วมกิจกรรม “แค่เดินก็ BURN ได้ #1” By อธิการบดีและทีมบริหารมหาวิทยาลัยมหิดล โดยกองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมกิจกรรมการออกกำลังกายให้แก่นักศึกษาและบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีท่านอธิการบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บริหารส่วนงาน นักศึกษา และบุคลากร ร่วมกิจกรรมเดินออกกำลังกายในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ระยะทาง 2.5 กิโลเมตร

พิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ของมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีพุทธศักราช 2567

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานผ้าพระกฐิน ประจำปี 2567 ให้มหาวิทยาลัยมหิดล นำไปถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ซึ่งจำพรรษากาลถ้วนไตรมาส ณ วัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานถวายผ้าพระกฐินพระราชทานของมหาวิทยาลัยมหิดล โอกาสนี้ ดร.ศรายุธ แสงจันทร์ รองอธิการบดีฝ่ายการคลัง มหาวิทยาลัยมหิดล คุณนรา เปาอินทร์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคลากรและพัฒนาองค์กร มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อิทธิโชติ จักรไพวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิตา รักธรรม รองอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและภาพลักษณ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ ดร.นริศรา จันทราทิตย์ ประธานสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ผู้บริหารส่วนงาน บุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดล และประชาชน เข้าร่วมพิธี รวมยอดจตุปัจจัยถวายเป็นพระราชกุศล รวมทั้งสิ้น 1,478,550.75 บาท (หนึ่งล้านสี่แสนเจ็ดหมื่นแปดพันห้าร้อยห้าสิบบาทเจ็ดสิบห้าสตางค์) ขออานิสงส์แห่งกฐินพระราชทานที่ทุกท่านร่วมทำบุญในครั้งนี้ จงดลบันดาลให้เจริญด้วยจตุรพิธพรชัยทุกประการเทอญ

มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรม Mahidol Town Hall: 103A Journey to Real World Impact

วันที่ 21 ตุลาคม 2567 มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรม Mahidol Town Hall: 103A Journey to Real World Impact โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ทีมบริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมให้ข้อมูลการดำเนินงาน 100 วัน ผ่าน Key Milestone สำคัญ ที่ทีมบริหารได้ผลักดันจนสำเร็จ และโครงการต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อให้เห็นผลในปี 2568 ตามแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยกลไก A1-3 ได้แก่ A1 – Synergy Research for Real World Impact A2 – Enable Learners for Lifelong Learning A3 – Financial sustainability People well-being and Process Efficiency ที่จะนำพามหาวิทยาลัยมหิดล ก้าวไปสู่ Real World Impact โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิตา รักธรรม รองอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและภาพลักษณ์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการ ในโอกาสนี้ มีผู้บริหารส่วนงาน บุคลากร และนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมในกิจกรรม ณ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา กิจกรรม Mahidol Town Hall: 103A Journey to Real World Impact จัดขึ้นเพื่อสื่อสารนโยบายและโครงการที่สนับสนุนยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ด้าน ภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องทำให้เร็วขึ้น คล่องตัวขึ้น ร่วมกันมากขึ้น และมีความสุขมากขึ้น ด้วยกลไก A1-3 รวมถึงการสร้าง Trust & commitment ของทีมบริหารต่อเป้าหมายของมหาวิทยาลัยที่แสดงถึงความก้าวหน้าในเรื่องสำคัญ ๆ อีกทั้งเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้บุคลากรได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดในการบริหาร การดำเนินงานภายในมหาวิทยาลัย เพื่อประสานความร่วมมือไปยังเป้าหมายและทิศทางเดียวกัน

มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง บริษัท ศิริราชวิทยวิจัย จำกัด ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย พัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านการแพทย์ฉุกเฉิน (intelligent Digital Emergency Medical Service Platform : iDEMS)

วันที่ 17 ตุลาคม 2567 ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงกุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ศิริราชวิทยวิจัย จำกัด ร่วมกับ เรืออากาศเอก นายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านการแพทย์ฉุกเฉิน (intelligent Digital Emergency Medical Service Platform : iDEMS) ยกระดับบริการการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ให้ทีมแพทย์สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้ทันทีที่มีการแจ้งเหตุ อีกทั้งผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว โดยมีระบบสารสนเทศการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล (Smart Approach Vital Emergency Responses: SAVER) จากศิริราชเข้าเพิ่มความแข็งแกร่งให้ Medical Information System ของ iDEMS โอกาสนี้ เรืออากาศเอก นายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ยังได้ลงนามสนับสนุนความร่วมมือดังกล่าวร่วมกันอีกด้วย โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล และประธานกรรมการบริษัท ศิริราชวิทยวิจัย จำกัด พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รองศาสตราจารย์ นายแพทย์เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ธารา วงศ์วิริยางกูร รองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงธนัญญา บุณยศิรินันท์ รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมบริการและคุณค่าองค์กร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้แทนจากหน่วยงานคู่ความร่วมมือต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีฯ ณ ห้องประชุมสัตตบงกช อาคารพัฒนาบุคคลากร สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) กรุงเทพฯ

ในการนี้ ได้มีการเสวนา หัวข้อ “ยกระดับการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม” ประกอบด้วยประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ “ดิจิทัลแพลตฟอร์ม (iDEMS) เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานและให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน” และ “เพิ่มศักยภาพดิจิทัลแพลตฟอร์ม (iDEMS) เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยปฏิบัติการแพทย์ด้วยดิจิทัลโซลูชั่นที่ทันสมัย (SAVER)” โดย คณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานภาคธุรกิจเอกชนต่าง ๆ โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการ

การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินผ่านการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) บริษัท ศิริราชวิทยวิจัย จำกัด และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล iDEMS เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินที่ครอบคลุม มีคุณภาพสูง ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชน และผู้ปฏิบัติงานในระบบการแพทย์ฉุกเฉินในวงกว้างต่อไป

มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีทำบุญตักบาตรบำเพ็ญกุศลถวายเป็นพระราชกุศล และพิธีถวายราชสดุดี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต 13 ตุลาคม วันนวมินทรมหาราช

วันที่ 11 ตุลาคม 2567 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บริหารส่วนงาน และบุคลากรจากส่วนงานต่าง ๆ เข้าร่วมพิธีทำบุญตักบาตรบำเพ็ญกุศลถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต 13 ตุลาคม วันนวมินทรมหาราช ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

จากนั้น อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในพิธีกล่าวถวายราชสดุดีหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โอกาสนี้ ผู้เข้าร่วมพิธีร่วมร้องเพลง “ต้นไม้ของพ่อ” และเพลง “เดินตามรอยเท้าพ่อ” ณ ห้องบรรยาย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2566 (วันที่สอง)

วันที่ 9 ตุลาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปพระราชทานปริญญาบัตร และประกาศนียบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2566 เป็นวันที่สอง โดยมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครปฐม ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครปฐม คณาจารย์ และผู้แทนนักศึกษา เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ ณ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จำนวน 1,693 ราย ประกอบด้วย วิทยาลัยการจัดการ บัณฑิตวิทยาลัย วิทยาลัยนานาชาติ คณะกายภาพบำบัด โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ และโครงการร่วมผลิตกระทรวงสาธารณสุข และพระราชทานทุนภูมิพล จำนวน 1 ราย

ภายหลังพิธีพระราชทานปริญญาบัตร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราโชวาทแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยมหิดล และทอดพระเนตรการแสดงดนตรีจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล บทเพลง “ฤดูที่แตกต่าง” ที่เป็นเพลงไทยร่วมสมัยมีเนื้อหาแง่คิดกับบัณฑิตมหาวิทยาลัยมหิดล ให้เตรียมพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงในชีวิตด้วยความอดทนและมีความหวัง ร่วมกันก้าวข้ามจุดเปลี่ยนไปสู่ชีวิตใหม่ และบทเพลง “เทิดพระนามมหิดล” เพื่อรวมพลังกายใจของบัณฑิตมหาวิทยาลัยมหิดลทุกคน สืบสานปณิธานของสมเด็จพระราชบิดา สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเป็นแบบอย่างทั้งในด้านการศึกษา การทำงาน และการทำประโยชน์แก่ส่วนรวมและประเทศชาติ

จากนั้น เสด็จออกจากห้องพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล คณะกรรมการดำเนินงานจัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยมหิดล

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2566 (วันแรก)

วันที่ 8 ตุลาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปพระราชทานปริญญาบัตร และประกาศนียบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2566 เป็นวันแรก โดยมี ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล กราบบังคมทูลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กราบบังคมทูลเบิกผู้ทรงคุณวุฒิ เข้ารับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ณ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แก่ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ จำนวน 6 ราย ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไลพันธ์ พุธวัฒนะ ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ศาสตราจารย์ ดร.แพทริเซีย เดวิดสัน ปริญญาพยาบาลศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ศกรณ์ มงคลสุข ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ภานุพันธ์ ทรงเจริญ ปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร ปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ พระราชทานเกียรติบัตรแก่ผู้ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 9 ราย พระราชทานเกียรติบัตรแก่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ และศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ จำนวน 8 ราย พระราชทานปริญญาบัตรแก่พระสงฆ์ 8 รูป บัณฑิตพิเศษ จำนวน 5 ราย และผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล รอบเช้า จำนวน 1,753 ราย ประกอบด้วย บัณฑิตวิทยาลัย วิทยาลัยศาสนศึกษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และรอบบ่าย จำนวน 1,814 ราย ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยศาสนศึกษา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา คณะสังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ วิทยาเขตกาญจนบุรี วิทยาลัยพยาบาลทหารบก วิทยาลัยพยาบาลทหารอากาศ และวิทยาลัยพยาบาลทหารเรือ

ภายหลังพิธีพระราชทานปริญญาบัตร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราโชวาทแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยมหิดล และทอดพระเนตรการแสดงดนตรีจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในบทเพลง ”นักร้องบ้านนอก” เป็นการแสดงดนตรีที่ผสมผสานดนตรีไทยสไตล์ลูกทุ่ง และเพลง “ชีวิตยังคงสวยงาม” เป็นบทเพลงสมัยนิยมที่สร้างแรงบันดาลใจ ให้พร้อมฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อไปสู่ชีวิตที่สวยงาม และทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานของมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง “ขิดตะขอสลับเอื้อ : ทอเส้นด้ายจากภูมิปัญญาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยนำเสนอ “ลายตะขอสลับเอื้อ” ลายผ้าขิดประจำจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นลายที่เหมือนไม้ มีช่วงปลายงอเพื่อใช้เกี่ยวครุหรือถังน้ำ สำหรับตักน้ำจากบ่อแสดงถึงความสามัคคีปรองดอง และลายเอื้อเป็นลายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนที่ซ้อนกันเป็นลายนูน หมายถึง ความเอื้อเฟื้อ ความเอาใจใส่ มีน้ำใจ ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ ได้มีการพัฒนาการศึกษาในภูมิภาคให้มีมาตรฐานและเข้าถึงความต้องการของท้องถิ่น มีการส่งเสริมงานวิจัยและการบริการทางวิชาการ ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ เป็นโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและต่อยอดภูมิปัญญาของชาวบ้าน เป็นการรักษาภูมิปัญญาลายผ้าท้องถิ่นไม่ให้สูญหาย ให้ความรู้เพิ่มเติมในการผลิตอย่างครบวงจร รวมถึงการให้ความรู้ด้านการตลาด ส่งเสริมการเรียนรู้ทั้ง ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำให้กับชุมชน โดยมีช่องทางจำหน่ายสินค้า ได้แก่ ร้าน “ฮักขอเอื้อ” ในจังหวัดอำนาจเจริญ และเพจ Huk Kor Eue ผ้าขิดลายตะขอสลับเอื้อ

พิธีมอบครุยวิทยฐานะแก่ผู้ทรงคุณวุฒิผู้ที่ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2566

วันที่ 4 ตุลาคม 2567 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธาน
ในพิธีมอบครุยวิทยฐานะแก่ผู้ทรงคุณวุฒิผู้ที่ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2566 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ปีการศึกษา 2566 มีผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 6 ท่าน ได้แก่

1. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
2. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. พิไลพันธ์ พุธวัฒนะ ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
3. ศาสตราจารย์ ดร. แพทริเซีย เดวิดสัน ปริญญาพยาบาลศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
4. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ศกรณ์ มงคลสุข ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
5. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ภานุพันธ์ ทรงเจริญ ปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
6. ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร ปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2566 จะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันอังคารที่ 8 ตุลาคม 2567 ณ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

พิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เนื่องใน “วันมหิดล” ประจำปี 2567 ณ ศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

วันที่ 24 กันยายน 2567 มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เนื่องใน “วันมหิดล” ประจำปี 2567 โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลา พร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บริหารส่วนงาน บุคลากร และนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ในโอกาสนี้ มีหน่วยงานภายนอกบริเวณใกล้เคียงมหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะฯ ณ ลานพระราชานุสาวรีย์ฯ ศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

จากนั้น เป็นพิธีเปิดนิทรรศการ “จากรับน้องข้ามฟาก สู่รักน้องมหิดล” ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้น เป็นการเยี่ยมชมนิทรรศการแนะนำเว็บไซต์ MU-ALL (Authentic lifelong Learning) ได้จัดขึ้นเนื่องใน “วันมหิดล” ประจำปี 2567 “วันมหิดล” เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งตรงกับวันที่ 24 กันยายน ของทุกปี ด้วยพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงวางรากฐานแก่วงการแพทย์ และการสาธารณสุขของไทยให้เจริญก้าวหน้า บุคลากรทางการแพทย์ การสาธารณสุข จึงได้ถือให้วันนี้เป็นวัน “มหิดล” เพื่อถวายราชสักการะ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระองค์ให้เป็น “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขไทย”