นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๔๐/๒๕๖๔ ของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์

วันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๔๐/๒๕๖๔ ของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ เพื่อกำหนดเป้าหมาย แผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๔–๒๕๖๕ และรับฟังผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้ง การพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมี อาจารย์ แพทย์หญิงมนทกานติ์ โอประเสริฐสวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยผู้บริหารวิทยาเขตฯ เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น ผ่านการประชุมออนไลน์ โดยมีประเด็น ดังต่อไปนี้

การดำเนินการตามเป้าหมายที่ผ่านมาและคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
๑. ศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์เปิดให้บริการแก่ประชาชนในส่วนภูมิภาคได้อย่างเป็นทางการ โดยบูรณาการทั้งการแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์แผนไทย และการแพทย์แผนจีน และมุ่งสู่ความเป็นเลิศในด้านผู้สูงอายุ
๒. พัฒนาคุณภาพงานวิจัยตามพันธกิจของวิทยาเขต บนพื้นฐานของปัญหาท้องถิ่น โดยในปี ๒๕๖๓ มีจำนวนผลงานวิจัยตีพิมพ์ในฐานข้อมูลสากล จำนวน ๑๔ เรื่อง โดยอยู่ใน Quartile ๑ จำนวน ๑๑ เรื่อง และในปี ๒๕๖๔ ถึงปัจจุบัน (เดือนกรกฎาคม) จำนวน ๑๖ เรื่อง และอยู่ใน Quartile ๑ จำนวน ๑๑ เรื่อง
๓. การให้บริการวิชาการเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานในพื้นที่ เช่น เป็นที่ปรึกษาแผนพัฒนาจังหวัดนครสวรรค์ (ปี ๒๕๖๐-๒๕๖๔) โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ ล้านบาท มีผลงานจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา และมีบุคลากรที่ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการที่เกี่ยวกับบึงบอระเพ็ด ๓ ชุด
๔. มีหลักสูตรระดับปริญญาตรีที่เป็น Outcome based education และบูรณาการการเรียนการสอนกับพื้นที่ (area based) โดยมีหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (สาขาเกษตรกรปราชญ์เปรื่อง) ที่ได้รับคัดเลือกเป็นหลักสูตรในโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่

เป้าหมายที่จะดำเนินการเพิ่มเติมในอีก ๒ ปีข้างหน้า
๑. ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารระดับชาติและระดับนานาชาติ จำนวน ๒๙ เรื่อง บนพื้นฐานของปัญหาในพื้นที่ และส่งเสริมผลิตนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาในท้องถิ่น อย่างน้อย ๑ เรื่อง
๒. พัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาตรีให้เป็น Flexible education : micro credential ภายใต้มาตรฐาน AUN-QA และพัฒนาหลักสูตรที่เป็น upskill/reskill และรายวิชาในระบบ MUx เพื่อตอบสนองต่อผู้เรียนกลุ่มอื่นในสถานประกอบการ และคนทำงาน เพื่อสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเตรียมความพร้อมในการเปิดหลักสูตรระดับปริญญาโทหลักสูตรที่ ๒
๓. ศูนย์การแพทย์ฯ วางแผนพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุอย่างครบวงจร รองรับปัญหาของผู้สูงอายุระยะ Post-acute และขยายการให้บริการทางการแพทย์ตามความต้องการของพื้นที่ ภายในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ โดยมีความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่
๔. พัฒนา MUNA Farm ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นต้นแบบให้กับชุมชนในการทำเกษตรแนวใหม่ รวมถึงผลิตสินค้าทางการเกษตรเพื่อจำหน่ายให้กับบุคคลทั่วไป และเป็นแหล่งฝึกงานภาคปฏิบัติให้กับนักศึกษาหลักสูตร วท.บ.เกษตรกรปราชญ์เปรื่อง และส่งเสริมงานวิชาการเพื่อสังคม
๕. ศูนย์ฟิสิกส์ทฤษฎีและปรัชญาธรรมชาตินครสวรรค์ เตรียมความพร้อมในการสร้างระบบนิเวศน์ทางวิชาการทางฟิสิกส์ทฤษฎีและการประยุกต์กับศาสตร์อื่นๆ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก ผลิตผลงานวิจัยระดับสูงทางฟิสิกส์ทฤษฎี จักรวาลวิทยา และองค์ความรู้รากฐานในศาสตร์อื่นๆ โดยผลิตผลงานวิจัย ปีละ ๒ เรื่องต่อคน และเตรียมความพร้อมในการเปิดหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ทฤษฎีและปรัชญาธรรมชาติ
๖. พัฒนาองค์กร เป็น Mindful Campus ร่วมกับศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และขยายสู่สังคมชุมชนโดยรอบในจังหวัดนครสวรรค์

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กล่าวชื่นชมและสนับสนุนแนวทางการดำเนินงานของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ เห็นถึงศักยภาพของทีมงานในการดำเนินงานไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ และให้ดำเนินการสร้างความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และส่วนงานภายในของมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุอย่างครบวงจรต่อไป นอกจากนั้นวิทยาเขตฯ มีข้อได้เปรียบเชิงพื้นที่ ที่ประชุมได้เสนอแนวคิดการจัดทำ Flagship หรือทำโครงการขนาดใหญ่/โครงการระยะยาว ที่ก่อให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่อย่างแท้จริงและยั่งยืน และสนับสนุนให้วิทยาเขตฯ เป็นผู้นำชี้นำสังคมในทุกด้าน เช่น การแพทย์ สาธารณสุข เกษตรกรรม เป็นต้น