วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “The Future of Thai Healthcare and Wellness Business During and Post Covid-19 crisis: Opportunities and Challenges” ในการอบรมหลักสูตรธุรกิจสุขภาพและการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ ๒ WELLNESS & HEALTHCARE BUSINESS OPPORTUNITY PROGRAM FOR EXECUTIVES (WHB) โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดโครงการอบรม พร้อมกล่าวปฐมกถา โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ก้องเขต เหรียญสุวรรณ รองอธิการฝ่ายบริหาร รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รองศาสตราจารย์ ดร.ยาใจ สิทธิมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิตา รักธรรม คณบดีวิทยาลัยการจัดการ และรองศาสตราจารย์ ดร.สราวุธ เทพานนท์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมการอบรม ณ ห้องประชุมสุขุมวิท ๑-๔ ชั้น ๓ JW Marriott Hotel Bangkok ถนนสุขุมวิท ซอย ๒ กรุงเทพฯ
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึง Health & Wellness คือ การรักษาสุขภาพให้ดี การอยู่ดีมีสุข การใช้ชีวิตให้มีศักยภาพสูงสุด คือสิ่งที่สำคัญที่สุด และการตั้งเป้าในอนาคตให้ประเทศไทยเป็น ‘ผู้นำการแพทย์จีโนมิกส์’ ของอาเซียนใน ๕ ปี ข้างหน้า นอกจากนี้ ได้เน้นในเรื่องแนวทางการพัฒนาไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพ ๔ ด้าน ได้แก่ ๑. Wellness Hub ที่เป็นการบริการอย่างครบวงจร ๒. Medical Service Hub ที่บูรณาการระบบการทำงานเพื่อสร้างสุขภาพการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ต่อยอดกับระบบสปาซึ่งถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทยและเป็นจุดหนึ่งที่หลายประเทศเข้ามาใช้บริการ ๓.Academic Hub ที่เกี่ยวกับสุขภาพ และ ๔. Product Hub เพื่อสร้างความพร้อมให้ไทยมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ ในประชาคมอาเซียนยกระดับการให้บริการด้านสาธารณสุขทั้งบุคลากรและมาตรฐานการให้บริการ เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการให้บริการอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
สำหรับการอบรมหลักสูตรธุรกิจสุขภาพและการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ ๒ จัดขึ้น ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดล กับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข The Department of Community and Global Health, The University of Tokyo, Huawei Technologies (Thailand) Co., Ltd. และ บริษัท Siam Health Development เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้อุตสาหกรรมทางการแพทย์ครบวงจรเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตของประเทศไทย รวมทั้งมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบริการด้านสุขภาพและการแพทย์ของโลก โดยมีเป้าประสงค์ให้ผู้บริหารและผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและการแพทย์ในประเทศไทย และผู้ที่สนใจธุรกิจด้านนี้ตระหนักถึงความก้าวหน้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์สมัยใหม่ รวมถึงเล็งเห็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Wellness & Healthcare ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของ Covid-19 และเป็นการตอบสนองนโยบายที่สำคัญของมหาวิทยาลัยมหิดล ทางด้านการให้บริการวิชาการโดยเฉพาะทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศ