นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๔๑/๒๕๖๔ ของวิทยาลัยศาสนศึกษา

วันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit: 2) ครั้งที่ ๔๑/๒๕๖๔ ของวิทยาลัยศาสนศึกษา เพื่อกำหนดเป้าหมาย แผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๔-๒๕๖๕ และรับฟังผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งการพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมี อาจารย์ ดร.พิบูลย์ ชุมพลไพศาล คณบดี วิทยาลัยศาสนศึกษา พร้อมด้วยผู้บริหารวิทยาลัยศาสนศึกษา เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น ผ่านการประชุมออนไลน์ โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้

การดําเนินงานตามเป้าหมายที่ผ่านมาและคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
๑. ปรับหลักสูตรย่อยระดับปริญญาตรี เพื่อลดค่าใช้จ่าย และตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของโลก รวมถึงมุ่งเน้นการศึกษาต่อเนื่อง
๒. เพิ่มภาคีเครือข่ายทั้งในด้านการศึกษาและบริการวิชาการ
๓. เป็น ๑ ในด้านศาสนศึกษาของประเทศไทย (Small but Smart)
๔. จัดบริการวิชาการระยะสั้น เช่น Culture tourism, Re-training
๕. ปรับแนวทางการบริหารน้ำทองสิกขาลัย ให้เป็น Training center โดยมีรูปแบบทั้งในการเป็นผู้จัดบริการวิชาการเองและให้บริการพื้นที่ในการจัดกิจกรรม

เป้าหมายที่จะดำเนินการเพิ่มเติมในอีก ๒ ปีข้างหน้า
๑. ปฏิรูปให้มีความมั่นคงแข็งแกร่งทั้งในด้านบุคลากร การเงิน และมีความรับผิดชอบต่อสังคม
๒. พัฒนาหลักสูตรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และเน้นพัฒนาทั้งนักศึกษาและบุคลากรอย่างคู่ขนานตามแนวทาง Small but Smart
๓. พัฒนางานบริการวิชาการ ทั้งในด้านการเผยแพร่องค์ความรู้และการบริการด้านศาสนศึกษา
๔. สร้างผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ และสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้กล่าวชื่นชมคณะผู้บริหารวิทยาลัยศาสนศึกษา ที่มีแผนและเป้าหมายการดำเนินงานที่ชัดเจน สภามหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานในทุกด้าน เพื่อให้วิทยาลัยฯ พัฒนาได้อย่างยั่งยืน และสามารถสร้างประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ โดยที่ประชุมได้เสนอให้วิทยาลัยฯ เพิ่มบทบาททางสังคมมากขึ้น เช่น บทบาทของศาสนศึกษากับสถานการณ์วิกฤต COVID-19 ศาสนศึกษากับความขัดแย้งทางการเมือง หรือ ศาสนศึกษากับความไม่เท่าเทียมทางสังคม เป็นต้น เสนอให้มีการสร้างหลักสูตรระดับปริญญาตรี หลักสูตรนานาชาติในรูปแบบออนไลน์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มนักศึกษาต่างชาติที่มีความสนใจด้านศาสนศึกษา สร้างความร่วมมือกับส่วนงานภายในมหาวิทยาลัย โดยบูรณาการองค์ความรู้ที่วิทยาลัยฯ มี ผสานเข้ากับศาสตร์สาขาต่างๆ เช่น ศาสนากับสุขภาพ รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมและให้ความรู้ด้านศาสนาแก่บุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัย รวมถึงการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลทางด้านศาสนาภายในประเทศมีอยู่หลากหลายในรูปแบบดิจิทัล นอกจากนี้ สภามหาวิทยาลัยได้เสนอแนะให้มหาวิทยาลัยพิจารณาในประเด็นการสนับสนุนการดำเนินงานของวิทยาลัยฯ ๔ ข้อ ดังนี้
(๑) การขอกรอบอัตรากำลังสายวิชาการเพิ่ม เพื่อให้เพียงพอต่อการเปิดหลักสูตร
(๒) การขอปรับบุคลากรจาก พนักงานส่วนงาน เป็น พนักงานมหาวิทยาลัย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะสายวิชาการ
(๓) การสนับสนุนการบริหารงานแก่ผู้บริหารชุดใหม่ของวิทยาลัยฯ
(๔) การทำให้วิทยาลัยอยู่ในราชกิจจานุเบกษา