คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยเยี่ยมชมส่วนงาน (Council Visit) ครั้งที่ ๒๓/๒๕๖๓ ณ วิทยาลัยการจัดการ

วันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล เข้าเยี่ยมส่วนงาน ครั้งที่ ๒๓/๒๕๖๓ (Council Visit) ณ วิทยาลัยการจัดการ เพื่อกำหนดเป้าหมาย แผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๓ – ๒๕๖๔ และรับฟังถึงผลสำเร็จของการดำเนินการที่ผ่านมา รวมทั้งการพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดวงพร อาภาศิลป์ คณบดีวิทยาลัยการจัดการ พร้อมด้วยผู้บริหารวิทยาลัยเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นโดยมีประเด็นดังต่อไปนี้

ผลสำเร็จที่ภาคภูมิใจของวิทยาลัยการจัดการ ในระยะเวลา ๔ ปีที่ผ่านมา
๑. ได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาระดับนานาชาติจาก AACSB ทำให้อยู่ใน Top 5% ของสถาบันที่สอนด้านการจัดการ หรือบริหารธุรกิจมากกว่า ๑๗,๐๐๐ แห่งทั่วโลก
๒. ศูนย์วิจัยภาวะผู้นำและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิมั่นพัฒนา มีผลงานวิจัยซึ่งพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนการเปิดหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขาภาวะผู้นำอย่างยั่งยืน
๓. จัดตั้งและเริ่มดำเนินงานศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ACSDSD) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ
๔. มีความร่วมมือต่อเนื่องกับ MIT Sloan School of Management  จัดหลักสูตร Strategy and Innovation for Businesses in Asia (SIBA) พัฒนาความรู้ความชำนาญของผู้บริหารภาครัฐและเอกชนในเรื่อง Global Strategy และ Strategic Innovation
๕. คุณภาพงานวิจัยเชิงวิชาการ (Academic research) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการเพิ่มขึ้นของมูลค่างาน Contract research
๖. จัดทำหลักสูตรร่วมที่เป็น Interdisciplinary กับส่วนงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย และทำหลักสูตรสองปริญญาร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ
๗. ผลงานของนักศึกษาและคณาจารย์ได้รับการยอมรับและมีผลกระทบต่อสังคม เช่น แนวคิดพิชิตใจ Lazy consumers เป็นต้น

เป้าหมายและแผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๓ – ๒๕๖๔
๑. จัดอยู่ใน ๓๐๐ อันดับแรกของสถาบันที่จัดอันดับโดย QS World University Ranking
๒. ยื่นขอการประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award – TQA)
๓. การดำเนินการของศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เป็นศูนย์หลักแห่งหนึ่งของประเทศในการกระตุ้น studies และ dialogue ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนกับประเทศอื่น
๔. เพิ่มสาขาวิชาที่ทันสมัย และการร่วมมือจัดทำหลักสูตรร่วมที่เป็น Interdisciplinary กับส่วนงานในมหาวิทยาลัยมหิดลเพิ่มขึ้น และกับต่างมหาวิทยาลัย
๕. การเพิ่มจำนวนกลุ่มงานวิจัย (Research clusters) ที่น่าสนใจ และมีผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ อาทิ Innovation and technology, Supply chain analytics, Global future skills