คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยเยี่ยมชมส่วนงาน (Council Visit) ครั้งที่ ๒๗/๒๕๖๓ ณ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

วันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล เข้าเยี่ยมส่วนงาน ครั้งที่ ๒๗/๒๕๖๓ (Council Visit) ณ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อกำหนดเป้าหมาย แผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๓ – ๒๕๖๔ และรับฟังถึงผลสำเร็จของการดำเนินการที่ผ่านมา รวมทั้งการพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมี ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พร้อมผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมรับฟังความคิดเห็นในการเข้าเยี่ยมส่วนงาน (Council Visit) ในครั้งนี้ด้วย โดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มีประเด็นความโดดเด่นดังต่อไปนี้

ผลสำเร็จที่ภาคภูมิใจของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในระยะเวลา ๔ ปีที่ผ่านมา
๑. การปรับเปลี่ยนหลักสูตรแบบพลิกโฉม และหลักสูตรได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เช่น หลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต ได้รับการรับรอง WFME ๑ ใน ๓ โรงเรียนแพทย์แห่งแรก และรอบสองในปี ๒๕๖๑, หลักสูตรพยาบาลศาสตร์บัณฑิตผ่าน AUNQA หลักสูตรแรกของประเทศไทย, ร่วมสร้างหลักสูตรการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ตามนโยบายรัฐบาล และการเปิดหลักสูตรร่วม แพทย์–วิศวะ เป็นต้น
๒. งานวิจัยด้าน Genetics & ศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ เช่น ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี, จัดตั้งศูนย์จีโนมทางการแพทย์ การรักษาธาลัสซีเมียด้วยยีนบำบัดครั้งแรกของโลก, ธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร, โรงพยาบาลแห่งแรกในไทยที่มีเครื่องพิมพ์ 3D-BIOPLOTTER และกิจกรรมบ่มเพาะนักนวัตกรรมทางการแพทย์ (รองเท้า และ Insole สำหรับคนเท้าเจ็บ) เป็นต้น
๓. การพัฒนาคุณภาพบริการรักษาพยาบาลสู่ระดับสากล ได้รับรางวัลต่าง ๆ เช่น รางวัล TQC 2019, ได้รับการจัดอันดับ ๒ Thailand’s Most Admired Company 2019, โครงการ Home Chemotherapy Rama Model ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี ๒๕๖๐, ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ได้รับการแต่งตั้งจากองค์การอนามัยโลก ให้เป็นศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกเพื่อการป้องกันและดูแลด้านพิษวิทยา เป็นต้น
๔. การบริการขยายบริการรักษาพยาบาลภาคเอกชน Rama-Frontier ในปี ๒๕๖๒ ได้แก่ บจก.สยามโตโยต้าอุตสาหกรรม
บจก.อีซูซุมอเตอร์(ประเทศไทย) และบจก.เชลล์แห่งประเทศไทย ร่วมพัฒนา Edu-town และ Medi-town กับบริษัท อมตะ
๕. Digital Transformation Organization เช่น AI FOR DIGITAL PATHOLOGY, Digital transformation framework of MOPH 4.0, Computerized Physician Order Entry (CPOE), ใช้สารสนเทศในการบริหาร Power BI, ใช้ระบบ Business intelligence  ติดตาม Financial Ratio เป็นต้น

เป้าหมายและแผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๓ – ๒๕๖๔
๑. สร้างศูนย์เรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจรและบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย
๒. เปิดหลักสูตรร่วม รามา-วิทยาลัยการจัดการ (MD-MBA) ปีการศึกษา ๒๕๖๔
๓. เปิดศูนย์การแพทย์รามาธิบดีศรีอยุธยา
๔. ร่วมกับอมตะ พัฒนา Edu-town และ Medi-town ในเขตระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (Rama-Frontier)
๕. สถาบันการแพทยจักรีนฤบดินทร์ (Green Campus)