คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยเยี่ยมชมส่วนงาน (Council Visit) ครั้งที่ ๓๐/๒๕๖๓ ณ คณะเทคนิคการแพทย์

วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล และศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล เข้าเยี่ยมส่วนงาน ครั้งที่ ๓๐/๒๕๖๓ (Council Visit) ณ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อกำหนดเป้าหมาย แผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๓ – ๒๕๖๔ และรับฟังถึงผลสำเร็จของการดำเนินการที่ผ่านมา รวมทั้งการพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมีศาสตราจารย์ ดร. ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นในการเข้าเยี่ยมส่วนงาน (Council Visit) ในครั้งนี้ โดยคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีความโดดเด่นในประเด็น ดังต่อไปนี้

ผลสำเร็จที่ภาคภูมิใจของคณะเทคนิคการแพทย์ ในระยะเวลา ๔ ปีที่ผ่านมา
๑. สัมฤทธิ์ผลในการผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพในระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง โดยมีนักวิจัยติดอันดับ ๑ และ ๑๒ Top authors ของไทย และของโลกในบางสาขาของงานทาง Data Mining and Biomedical Informatics
๒. ความสำเร็จในการพัฒนา Platform งานวิจัยสู่นวัตกรรมเพื่อการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ครบวงจร (วิจัยพัฒนา-ผลิตโดย Pilot plant-จำหน่ายโดยบริษัท MT InnoTrex) และพัฒนากลไกรองรับการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม เครื่องมือแพทย์ระดับประเทศ
๓. การขยายบริบททางเทคนิคการแพทย์กับการพัฒนาเกษตรและอาหารปลอดภัยเพื่อส่งเสริมสุขภาพประชาชนตามนโยบายโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย นโยบายเกษตรแปลงใหญ่ของรัฐบาล และการสนับสนุนโครงการตามพระราชดำริ
๔. ขยายบทบาททางวิชาชีพเพื่อการส่งเสริมการมีสุขภาวะดี (Good Health & Well-being) ผ่านการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม และคลินิกสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (สปสช.) เพื่อรองรับประชาชนทุกกลุ่มวัยและสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรบุคคลตาม พรบ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ
๕. พัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ตามมาตรฐานสากลเพื่อพัฒนาบัณฑิตที่มีศักยภาพรอบด้าน และการ Up-skill, Re-skill แก่ผู้ประกอบวิชาชีพ
๖. เป็นแม่ข่ายดูแลมาตรฐานทางห้องปฏิบัติการทางเทคนิคการแพทย์ทั้งประเทศ และการขยายศักยภาพในระดับอาเซียน

เป้าหมายและแผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๓ – ๒๕๖๔
๑. หลักสูตรได้รับการรับรองตามมาตรฐาน AUN-QA
๒. พัฒนา National Clinical Laboratory Validation Center เพื่อส่งเสริมการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย
๓. พัฒนา National Platform ทดสอบอาหารเพื่อสุขภาพแห่งอนาคต รองรับทิศทาง Food for the Future
๔. ขับเคลื่อนกระบวนการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม และคลินิกสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อรองรับประชาชน
ทุกกลุ่มวัยและสังคมผู้สูงอายุ และเป็นแหล่งเรียนรู้และการปฏิบัติทางวิชาชีพ
๕. ขยายศักยภาพการเป็นแม่ข่ายดูแลมาตรฐานทางห้องปฏิบัติการทางเทคนิคการแพทย์ในระดับอาเซียน