นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๘/๒๕๖๔ ของวิทยาลัยการจัดการ

วันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๘/๒๕๖๔ ของวิทยาลัยการจัดการ เพื่อกำหนดเป้าหมาย แผนการดำเนินงาน ปีงบประมาณ ๒๕๖๔-๒๕๖๕ และรับฟังผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้ง การพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิตา รักธรรม คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยคณะผู้บริหารวิทยาลัย เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น ผ่านการประชุมออนไลน์โปรแกรม Zoom Meeting โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้

การดำเนินการตามเป้าหมายที่ผ่านมาและคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
๑. วิทยาลัยได้รับการจัดอันดับอยู่ใน 300 อันดับแรกของสถาบันที่จัดอันดับโดย QS World University Rankings by Subject : Business & Management Studies
๒. ยื่นขอประเมินและได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award – TQA)
๓. ดำเนินการศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เป็นศูนย์หลักแห่งหนึ่งของประเทศในการกระตุ้น studies และ dialogue ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนกับประเทศอื่น
๔. เพิ่มสาขาวิชาที่ทันสมัย และร่วมมือจัดทำหลักสูตรร่วมที่เป็น Interdisciplinary กับส่วนงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย
๕. การเพิ่มจำนวนกลุ่มงานวิจัย (Research Clusters) ที่น่าสนใจ และมีผลกระทบต่อภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ Innovation and technology, Supply chain analytics, Global future skills

เป้าหมายที่จะดำเนินการเพิ่มเติมในอีก 2 ปีข้างหน้า
๑. พัฒนาหลักสูตรออนไลน์ และร่วมมือจัดทำหลักสูตรร่วมที่เป็น Interdisciplinary กับพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ทั้งในมหาวิทยาลัยมหิดลและกลุ่มธุรกิจชั้นนำ
๒. เพิ่มจำนวนกลุ่มวิจัย (Research Clusters) ร่วมกับพันธมิตรในสาขาที่วิทยาลัยมีศักยภาพ อาทิ Sustainable Leadership หรือ Sustainable Supply Chain รวมถึงต่อยอดและขยายความร่วมมือด้านการเรียนรู้ตลอดจนด้านการวิจัยและพัฒนา ระหว่างวิทยาลัย ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และหน่วยงานอื่นๆ
๓. เพิ่มโครงการพัฒนาองค์กรและบุคลากรตามกรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืน มีความโปร่งใส และคำนึงถึงส่วนรวม ได้แก่ โครงการวิทยาลัยสีเขียว (Green CMMU) การพัฒนาโครงการวิจัยและบริการวิชาการที่ตอบโจทย์หรือเกื้อกูลสังคม โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากร รวมถึงการสร้างสายสัมพันธ์และเครือข่ายความร่วมมือในเชิงปฏิบัติระหว่างวิทยาลัยกับทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้กล่าวชื่นชมการดำเนินงานของวิทยาลัย และ ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue : ACSDSD ที่มีศักยภาพ มีความพร้อมในการตอบรับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคม ทั้งด้านเทคโนโลยี รูปแบบการเรียนการสอน กระบวนการและการติดต่อสื่อสารที่ชัดเจนและเป็นระบบ พร้อมนี้ได้ให้ข้อเสนอแนะด้านต่าง ๆ อาทิ การเพิ่มจำนวนผู้เรียน โดยสนับสนุนหลักสูตรนานาชาติ ในรูปแบบออนไลน์ การสร้างความร่วมมือกับส่วนงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ การจัดทำงานวิจัยชี้นำสังคมในการบริหารจัดการองค์กรเพื่อความยั่งยืน การสร้างหลักสูตร Flexible Education และการเปิดหลักสูตรระยะสั้น ความเข้มแข็งของศิษย์เก่าที่มีความหลากหลายจะช่วยเสริมให้การดำเนินการด้านต่าง ๆ ของวิทยาลัยเป็นไปได้อย่างยั่งยืน รวมถึง การกำหนดแนวทางและเป้าหมายในการดำเนินงานด้าน SDGs อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน