วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๑๒/๒๕๖๔ ของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา เพื่อกำหนดเป้าหมาย แผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๔-๒๕๖๕ และรับฟังผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งการพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์บวรฤทธิ์ จักรไพวงศ์ คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา พร้อมด้วยผู้บริหารวิทยาลัยฯ เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ Cisco Webex Meetings โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้
การดําเนินงานตามเป้าหมายที่ผ่านมาและคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
๑. ผลักดันหลักสูตรของวิทยาลัยฯ ให้ผ่านการรับรองตามมาตรฐานสากล (AUN-QA) ภายใน ๒ ปีข้างหน้า
๒. พัฒนาการบริการวิชาการ เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้ในระดับหนึ่ง
๓. เน้นการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสาร Quartier 1 ที่มี Impact factor สูง
๔.พัฒนาระบบประกันคุณภาพ MU EdPEx ให้ได้มากกว่า ๓๐๐ คะแนน
เป้าหมายที่จะดำเนินการเพิ่มเติมในอีก ๒ ปีข้างหน้า
๑. เปิดหลักสูตรร่วมกับสถาบันที่มีชื่อเสียง ทำความร่วมมือทางวิชาการกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีตามโครงการวิทยาศาสตร์การกีฬา–จฉพ. (เจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์)
๒. ผลักดันหลักสูตรออนไลน์ระยะสั้น
๓. สร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติ ด้านการศึกษา วิจัย และนวัตกรรม
๔. งานวิจัยมุ่งเป้า เพื่อความเป็นเลิศเฉพาะทางแต่ละประเภทกีฬา เพิ่มศักยภาพทางการกีฬา–นักกีฬา และลดการบาดเจ็บสุขภาวะของประชาชน
๕. จัดตั้งคลินิกการกีฬาให้ผู้มาตรวจรักษาสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลมาได้ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด
๖. ปรับโครงสร้างทางกายภาพห้องเรียน รองรับการเรียนการสอนรูปแบบ Online และสนามกีฬารองรับการออกกำลังกาย เพื่อนักศึกษา บุคลากร และบุคคลภายนอก ได้ใช้สถานที่ออกกำลังกาย
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กล่าวชื่นชมการดำเนินงานของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา ในการทำงานเชิงรุกและความก้าวหน้าของวิทยาลัยฯ พร้อมทั้งเสนอแนะให้มีการบูรณาการข้ามศาสตร์ต่างๆ โดยผสานความร่วมมือด้านการศึกษา วิจัย และนวัตกรรม ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร(SI) คณะเทคนิคการแพทย์สถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และวิทยาลัยราชสุดา เป็นต้น เพื่อสร้างจุดเด่น และมุ่งเป้าหมายการเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬาระดับประเทศและนานาชาติ สนับสนุนการสร้างนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ฯ การกีฬา หลักสูตรออนไลน์ระยะสั้น และเพิ่มกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น ผู้ฝึกสอนกีฬา เด็กและครอบครัว ผู้สูงวัย ผู้พิการ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของสังคม สร้างความร่วมมือในการวิจัยกับภาคเอกชนมากขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อนักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไป และขอให้วิทยาลัยฯ กำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินงานด้าน SDGs อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน