นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๑๙/๒๕๖๔ ของสถาบันโภชนาการ

วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๑๙/๒๕๖๔ ของสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อกำหนดเป้าหมาย แผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๔ – ๒๕๖๕ และรับฟังถึงผลสำเร็จของการดำเนินการที่ผ่านมา รวมทั้งการพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ พร้อมด้วยผู้บริหารสถาบันฯ เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น ผ่านการประชุมออนไลน์

การดําเนินงานตามเป้าหมายที่ผ่านมาและคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
๑. โครงการปรับโรงงานอาหารต้นแบบ เพื่อให้ได้มาตรฐาน Good Manufacturing Practice : GMP
๒. Flexible Courses ที่เปิดให้บุคคลภายนอกลงทะเบียนเรียนได้ ทั้งในรูปแบบ MAP-C และ MAP-Ex
๓. กระตุ้นให้ภาคเอกชนมาร่วมวิจัยกับสถาบันภายใต้กรอบ FOOD INNOPOLIS และการเป็น Node การให้ทุนของแหล่งทุน เช่น สำนักงานวิจัยการเกษตร
๔. Frontier Research พัฒนาความร่วมมือกับเครือข่ายสถาบันต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น

เป้าหมายที่จะดำเนินการเพิ่มเติมในอีก ๒ ปีข้างหน้า
๑. Food research cluster/collaboration ร่วมกับนักวิจัยของไทย ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เพื่อผลิตผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำ และเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านอาหารและโภชนาการภายในมหาวิทยาลัย
๒. ความร่วมมือกับ Harvard Medical School เพื่อสร้างศักยภาพในการวิจัย และตรวจวิเคราะห์ Nutrient Biomarkers เพื่อเป็น High-throughput Core Laboratory ในการวิจัย ศึกษาสำรวจด้านโภชนาการของภูมิภาค
๓. การให้บริการวิเคราะห์ขั้นสูงด้านอาหาร และโภชนาการ เช่น สาร THC และ CBD จากกัญชาในอาหาร, Targeted/Untargeted Metabolome, Unknown Active Compounds จากสารสกัดจากพืชและสัตว์ สาร PAHs
๔. การจัดทำหลักสูตรปริญญาเอก Joint Degree กับ Rutgers University, สหรัฐอเมริกา: Functional Food and Medical Nutrition
๕. การให้บริการฝึกอบรมที่ทันสมัยด้านอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพที่ดีของประชากร และเพื่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจและสังคม: ศูนย์อบรมตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และการอบรมด้านโภชนาการตามวัยและสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วย
๖. ผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ หรืออาหารสุขภาพ เพื่อการพาณิชย์หรือสาธารณประโยชน์ อย่างน้อย 1 ผลิตภัณฑ์

ทั้งนี้ สภามหาวิทยาลัยได้ชื่นชมและเสนอให้มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับสถาบันโภชนาการ ปรับให้การบริหารจัดการสถาบันฯ มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น โดยการทำให้ครบวงจรเพื่อประโยชน์ของประชาชน เศรษฐกิจ สังคมของประเทศ และเพื่อให้สถาบันฯ สามารถเลี้ยงตนเองได้อย่างมั่นคง การยกระดับ Visibility สถาบันฯ ให้โดดเด่น และการสื่อสารให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย โดยเผยแพร่องค์ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการให้ประชาชนทั่วไปรู้จักและเข้าใจมากยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างชื่อเสียงให้สถาบันฯ และเป็นที่พึ่งของประชาชน รวมถึงเสนอให้สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนเพิ่มเติม อาทิ CPF BETAGRO สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เพื่อเสริมสร้างจุดแข็งด้าน Functional Food and Medical Nutrition การผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะด้านอาหารและโภชนาการมากยิ่งขึ้น และเสนอการจัดทำข้อมูลด้านโภชนาการต้าน COVID-19 ในส่วนของงานวิจัยขอให้สถาบันฯ สนับสนุน Research Cluster ด้านอาหารและโภชนาการร่วมกับส่วนงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย เช่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลมาธิบดี คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย เป็นต้น และขอให้สถาบันฯ ดำเนินงานด้าน SDGs อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายที่ 2: ZERO HUNGER เพื่อไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน