นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๒๒/๒๕๖๔ ของคณะเทคนิคการแพทย์

วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๒๒/๒๕๖๔ ของคณะเทคนิคการแพทย์ เพื่อกำหนดเป้าหมาย แผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๔ – ๒๕๖๕ และรับฟังผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้ง การพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ พร้อมด้วยผู้บริหารคณะ เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น ผ่านการประชุมออนไลน์ โดยมีประเด็น ดังต่อไปนี้

การดำเนินการตามเป้าหมายที่ผ่านมาและคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
๑. หลักสูตรระดับปริญญาตรีทั้งสองสาขาได้รับการรับรองตามมาตรฐาน AUN-QA และการได้รับรอง TQC
๒. พัฒนา National Clinical Laboratory Validation Center เพื่อส่งเสริมการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย
๓. พัฒนา National Platform ทดสอบอาหารเพื่อสุขภาพแห่งอนาคต รองรับทิศทาง Food for the Future
๔. ขับเคลื่อนกระบวนการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม และคลินิกสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อรองรับประชาชนทุกกลุ่มวัยและสังคมผู้สูงอายุ และเป็นแหล่งเรียนรู้และการปฏิบัติทางวิชาชีพ
๕. ขยายศักยภาพการเป็นแม่ข่าย ดูแลมาตรฐานทางห้องปฏิบัติการทางเทคนิคการแพทย์ ในระดับอาเซียน

เป้าหมายที่จะดำเนินการเพิ่มเติมในอีก ๒ ปีข้างหน้า
๑. การพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการของผู้เรียน และมีมาตรฐานระดับอาเซียน
๒. การพัฒนานวัตกรรมจากงานวิจัย เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และอุตสาหกรรมอาหารสุขภาพแห่งอนาคต
๓. การเป็นห้องปฏิบัติการทดสอบ Medical devices & Health and Food products
๔. ขับเคลื่อนกระบวนการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมแบบครบวงจร เพื่อรองรับประชาชนทุกกลุ่มวัย และสังคมผู้สูงอายุ และเป็นแหล่งเรียนรู้ และการปฏิบัติทางวิชาชีพ
๕. การยกระดับมาตรฐานคุณภาพ และศักยภาพทางวิชาการแก่ห้องปฏิบัติการเครือข่ายระดับภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้ ที่ประชุม ได้กล่าวชื่นชม คณบดีและทีม ที่ได้พัฒนาในด้านต่างๆ อย่างดีเยี่ยม คิดนอกกรอบ สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตได้อย่างดี มีผลงานชี้นำสังคมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ รวมถึงคณะฯ ได้ตอบโจทย์ SDGs เป้าหมายที่ ๓ Good Health and Well-Being ได้อย่างชัดเจน สร้างระบบความมั่นคงด้านสุขภาพ เช่น ด้านความปลอดภัยของอาหารเสนอสร้างองค์ความรู้ และวิธีการเลือกซื้ออาหารที่ปลอดภัยให้กับประชาชน ด้านเครื่องมือแพทย์ มาตรฐานการตรวจสอบและประเมินเครื่องมือแพทย์ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างรายได้ให้กับคณะ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เสนอแนะให้คณะ ขยายเครือข่ายความร่วมมือทางด้านสาธารณสุขในภูมิภาคอาเซียน และแนวทางการประเมินคุณภาพห้องปฏิบัติการ (EQAS) ที่เหมาะสมกับบริบทของคนไทยที่สามารถกำหนดเป็นนโยบายของประเทศต่อไป นำองค์ความรู้ที่มีจัดทำเป็น VDO Clip เผยแพร่สู่สาธารณะ เมื่อเทียบเคียงผลงานวิจัยในระดับประเทศแล้ว คณะเทคนิคการแพทย์ อยู่ในระดับแนวหน้า จึงเห็นควรให้คณะ เทียบเคียงผลงานวิจัยในต่างประเทศด้วย และมหาวิทยาลัยพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของคณะฯ ในทุกด้าน