วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงจุฑามณี สุทธิสีสังข์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดงานมหกรรมคุณภาพ ประจำปี 2565 (Mahidol Quality Fair 2022) ภายใต้หัวข้อ “Good Governance in Digital Era: ธรรมาภิบาลในยุคดิจิทัล” รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรสมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานคณะกรรมการจัดงาน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน โดยมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บริหารส่วนงาน บุคลากรเข้าร่วมงาน ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และผ่านระบบออนไลน์ ในโอกาสนี้ ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) บรรยายพิเศษหัวข้อ “บทบาทมหาวิทยาลัยกับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล” และการเสวนาหัวข้อ “Digital Transformation” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัชวีร์ ลีละวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและวิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์ ดร. นายแพทย์บดินทร์ ทรัพย์สมบูรณ์ คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านสาธารณสุข) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์ ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โษฑศ์รัตต ธรรมบุษดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการเสวนาโดย อาจารย์ ดร.ระพี บุญเปลื้อง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยมหิดล โดย กองพัฒนาคุณภาพ จัดงานมหกรรมคุณภาพ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของบุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดล ในเรื่องการพัฒนาคุณภาพงานและการสร้างนวัตกรรมด้านต่าง ๆ ทั้งในระดับบุคคลและระดับองค์กร เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดี เป็นพื้นที่แห่งความภาคภูมิใจสำหรับผู้ได้รับรางวัลและผู้นำเสนอผลงาน และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เข้าร่วมงานทุกท่านเพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ พัฒนาตน พัฒนางานนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องให้กับมหาวิทยาลัยต่อไป
ภายในงาน มีการนำเสนอผลงานประเภทต่างๆ ได้แก่ รางวัล Team Good Practice Award รางวัล Innovative Teaching Award การนำเสนอผลงานด้วยวาจา (Oral Presentation) การนำเสนอผลงานด้วยโปสเตอร์ (Poster Presentation) ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร และในรูปแบบออนไลน์ผ่าน Mahidol University Digital KM Masterclass การเผยแพร่บทความ ประเภทเรื่องเล่าเร้าพลัง (Storytelling) ในรูปแบบออนไลน์ผ่าน Mahidol University Digital KM Masterclass และกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ The AUN Technology Enhanced Personalised Learning (AUN-TEPL) โดยกองบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งในปี 2565 บุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดล ส่งผลงานเพื่อนำเสนอภายในงาน 342 ผลงานจาก 22 ส่วนงาน และมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานกว่า 1,400 คน