วันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายเเพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การเรียนรู้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs” โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ก้องเขต เหรียญสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร และรักษาการแทนหัวหน้าสำนักงานสภามหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวรายงานการอบรม ณ ห้องประชุม ๒๑๘ ชั้น ๒ อาคารสิริวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ซึ่งงานดังกล่าวจัดขึ้นเป็นเวลา ๒ วัน ระหว่างวันที่ ๒๘-๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ จัดโดย สำนักงานสภามหาวิทยาลัยมหิดล บูรณาการร่วมกับ วิทยาลัยการจัดการ กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม กองแผนงาน และกองทรัพยากรบุคคล สำนักงานอธิการบดี
จากนั้น เป็นการบรรยาย โดยทีมผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ในหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่ หัวข้อ “Roles of Higher Educations for SDGs” โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล หัวข้อ “SDGs : นโยบายและแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ รองอธิการบดี และหัวข้อ “จากมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) สู่มหาวิทยาลัยยั่งยืน (Sustainable University)” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อให้บุคลากรสายสนับสนุน หรือผู้ที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของแต่ละส่วนงาน มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่าย และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปประยุกต์ใช้ในการทำงานให้เกิดความยั่งยืนต่อส่วนงาน มหาวิทยาลัย และประเทศชาติต่อไป
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายเเพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs เป็นสิ่งที่ประเทศไทยและสมาชิกองค์การสหประชาชาติ รวม ๑๙๓ ประเทศ ร่วมรับรองในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ เพื่อร่วมกันบรรลุเป้าหมายการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ภายในปี พ.ศ. ๒๕๗๓ จะเห็นว่าโครงการนี้ใช้เวลาดำเนินการ ทั้งสิ้น ๑๕ ปี เหลือระยะเวลาอีก ๘ ปีเท่านั้น องค์การสหประชาชาติ ได้ติดตามผลการดำเนินงานของแต่ละประเทศตลอดมา และในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ นี้ ประเทศไทยจะถูกจัดอันดับที่ ๔๔ ของโลกในการมุ่งสู่เป้าหมาย ซึ่งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมี ๑๗ ข้อ แบ่งเป็นกลุ่มตามปัจจัยที่เชื่อมโยงกัน ๕ มิติ หรือ 5P ได้แก่
๑. People การพัฒนาคน เพื่อขจัดปัญหาความยากจน ความหิวโหยและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
๒. Planet คือ การปกป้องและรักษา สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพภูมิอากาศเพื่อพลเมืองโลกรุ่นต่อไป ๓. Prosperity คือ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี และสอดคล้องกับธรรมชาติ
๔. Peace คือ สันติภาพและความยุติธรรม โดยยึดหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีสังคม และสงบสุขไม่แบ่งแยก
๕. Partnership เป็นสิ่งสำคัญที่สุด คือ ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน
ดังนั้น มหาวิทยาลัยมหิดล มีความหลากหลายทั้งองค์ความรู้ ที่จะสามารถนำมาบูรณาการ สามารถจัดเตรียมทักษะความรู้ และความเข้าใจให้แก่นักศึกษา เพื่อให้เป็นบัณฑิตที่มีปัญญา สามารถบริหารจัดการกับความท้าทาย และขยายโอกาสในการดำเนินการวิจัยที่ก้าวหน้าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”
ในส่วนกิจกรรมวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ มีการบรรยายในหัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่ หัวข้อ “Mahidol University & Sustainable Development Goals” โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภาและอดีตนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล หัวข้อ “งานวิจัยจะช่วยให้มนุษย์และธรรมชาติดํารงอยู่อย่างสมดุลได้หรือไม่” โดย คุณหญิงลักษณาจันทร เลาหพันธุ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ หัวข้อ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กับการรายงานผลกระทบของมหาวิทยาลัย ตามกรอบ Times Higher Education” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชล บุนนาค ผู้อํานวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) หัวข้อ “Mahidol University’s theory of Corporate Sustainability: Policy implications for MU sustainable development “ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร รองคณบดีงานวิจัย และผู้อํานวยการศูนย์วิจัยภาวะผู้นําอย่างยั่งยืน วิทยาลัยการจัดการ จากนั้น จะเป็นการนําเสนอ Workshop และสรุปการบรรยาย ทําแบบทดสอบ Post-Test โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ พิมพา ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายความยั่งยืน วิทยาลัยการจัดการ พร้อมทีมงานจากวิทยาลัยการจัดการ ร่วมดำเนินรายการ