นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๑๗/๒๕๖๔ ของหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล

วันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๑๗/๒๕๖๔ ของหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อกำหนดเป้าหมาย แผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๔-๒๕๖๕ และรับฟังผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งการพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพล เผ่าสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยผู้บริหารหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น ผ่านการประชุมออนไลน์ โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้

การดําเนินงานตามเป้าหมายที่ผ่านมาและคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
๑. พัฒนาระบบบริการต่าง ๆ ของห้องสมุดให้ทัดเทียมกับห้องสมุดมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก
๒. มุ่งสู่การรับรองมาตรฐานด้านระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001: 2015 และมาตรฐานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001: 2015 ภายในปี ๒๕๖๓
๓. ขยายงานด้านพันธกิจสัมพันธ์เพื่อสังคมและชุมชนโดยรอบ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้ได้ผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้สมรรถนะหลักขององค์กร
๔. Reskill – Upskill บุคลากรให้มีสมรรถนะและทักษะทางวิชาชีพได้มาตรฐานสากล และพัฒนาทักษะทางเทคโนโลยีให้สามารถรองรับกับแพลตฟอร์มการเรียนรู้ระบบดิจิทัล (Digital Learning Platform)
๕. พัฒนาห้องสมุดดิจิทัล คลังสารสนเทศสถาบัน คลังข้อมูลจดหมายเหตุ ให้ได้มาตรฐานสากลตามหลักการบริหารจัดการข้อมูลที่ดี และมีความยั่งยืนในการเก็บรักษาข้อมูลระยะยาวตามหลักการของ Data Curation

เป้าหมายที่จะดำเนินการเพิ่มเติมในอีก ๒ ปีข้างหน้า
๑. จัดตั้ง Analytic Research Center เป็นศูนย์รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่ดำเนินการเก็บข้อมูลโดยใช้เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพ ISO 11620
๒. สร้างบรรยากาศส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ ๒๑
๓. โครงการพัฒนาบทเรียนออนไลน์ ที่สามารถเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการให้บริการห้องสมุดสู่สถาบันการศึกษาทุกระดับในประเทศไทย (Library to Classroom) และ Library Digital KM
๔. โครงการส่งเสริมการเข้าถึงผลงานวิชาการของมหาวิทยาลัยมหิดลด้วยสื่อวีดิทัศน์ ผลิตรายการ The Author
๕. โครงการ Mahidol Historical Learning Experience “เด็กไทย ใจมหิดล” จัดทำ Games Application เพื่อเผยแพร่ประวัติศาสตร์และเกียรติภูมิของมหาวิทยาลัยมหิดล และใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในห้องเรียนสำหรับสถานศึกษาเครือข่ายห้องสมุดโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดนครปฐมและกรุงเทพฯ
๖. โครงการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัลให้กับโรงเรียนในชุมชนโดยรอบ และเผยแพร่เรื่องราวเชิงประวัติและผลงานของมหาวิทยาลัยไปสู่โรงเรียนต่าง ๆ
๗. ดำเนินกิจกรรมความร่วมมือระดับชาติและนานาชาติ กับสมาชิกภาคี ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค PULINET Plus และกิจกรรมความร่วมมือกับ AUNILO: Libraries of ASEAN University Network ในการร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่สำคัญ และพัฒนากิจกรรมวิชาการ รวมถึงการลงนามในหนังสือเก็บบันทึกข้อตกลงความเข้าใจที่ตรงกัน (MOU) กับห้องสมุดมหาวิทยาลัยระดับสากล

ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้กล่าวชื่นชม หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เป็นศูนย์รวมข้อมูล ความรู้ของมหาวิทยาลัย พร้อมให้ข้อเสนอแนะ อาทิ นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในศตวรรษที่ ๒๑ สร้างความร่วมมือกับห้องสมุดมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย สร้างความร่วมมือกับหอสมุดของมหาวิทยาลัยในประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน เสนอให้หอสมุดฯเป็นศูนย์กลางจัดเก็บข้อมูลวิทยานิพนธ์และสารนิพนธ์ในรูปแบบดิจิทัล เพื่อความสะดวกในการเก็บรักษาและสืบค้นข้อมูลได้ง่าย เพิ่มเติมการจัดเก็บ VDO ในหอสมุดฯ และเพิ่มการประชาสัมพันธ์วิธีการเข้าใช้งาน E-Journal สำหรับอาจารย์เพื่อเข้าถึงได้ง่ายขึ้น สร้างความแตกต่างจากห้องสมุดอื่น เช่น การเป็น Personal Library และ Library Ecosystem จัดพื้นที่การเรียนรู้ของหอสมุดฯ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการในปัจจุบัน เช่น มีพื้นที่ให้นักศึกษาสามารถอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัย ทั้งนี้ ขอให้กำหนดแนวทางและเป้าหมายการดำเนินงานที่สอดคล้องกับ SDGs ให้ชัดเจน เพื่อไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน