วันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล เข้าเยี่ยมส่วนงาน ครั้งที่ ๑๕/๒๕๖๓ (Council Visit) ณ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย เพื่อกำหนดเป้าหมาย แผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๓ – ๒๕๖๔ และรับฟังถึงผลสำเร็จของการดำเนินการที่ผ่านมา รวมทั้งการพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญจิต ศศิวงศาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย พร้อมผู้บริหารสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย และผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมรับฟังความคิดเห็นในการเข้าเยี่ยมส่วนงาน (Council Visit) ในครั้งนี้ด้วย โดยสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียมีประเด็นความโดดเด่นดังต่อไปนี้
ผลสำเร็จที่ภาคภูมิใจของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ในระยะเวลา ๔ ปีที่ผ่านมา ( ๒๕๕๙-๒๕๖๒)
๑. จัดการศึกษาแบบทวิภาษาสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้รับรางวัลระดับนานาชาติ จาก UNESCO ด้านการรู้หนังสือประจำปี ค.ศ. 2016 (UNESCO King Sejong Literacy Prize)
๒. งานวิจัยที่ช่วยองค์กรนานาชาติ (UN, UNICEF, Save the Children และ Pestalozzi) ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่เป็นเป้าหมายระดับนานาชาติ (SDG 4) ของเด็กชนกลุ่มน้อย
๓. เสริมศักยภาพคนไทยในยุคโลกไร้พรมแดนให้มีทักษะด้านพหุภาษาและพหุวัฒนธรรม ผ่านการจัดการศึกษา “ห้องเรียน
พหุวัฒนธรรม” และการทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยในกลุ่มโจทย์วิจัยสำคัญด้านอาเซียน
๔. งานวิจัยที่ช่วยเติมเต็มการสร้างสุขภาวะในมิติสังคมวัฒนธรรมให้แก่ผู้สูงอายุในสังคมสูงวัย
๕. การจัดบริการด้านภาษาและวัฒนธรรมสู่ระดับนานาชาติร่วมเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ASEAN University Network และร่วมสร้าง ASEAN University Network–Youth Cultural Forum (AUN–AYCF) แห่งประเทศไทย
เป้าหมายและแผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๓-๒๕๖๔ (ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒)
๑. จัดทำ “ระบบสารสนเทศอัจริยะด้านภาษาและวัฒนธรรม (Digital archiving for diversity of languages and cultures)
๒. สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้วยการวิจัยพัฒนาระบบการศึกษาและนวัตกรรมในพื้นที่พิเศษ
(พหุชาติพันธุ์-พหุวัฒนธรรม) แถบชายแดนไทย-พม่า และขยายให้ครอบคลุมชายแดนทั่วประเทศ
๓. ยกระดับคุณภาพทุนมนุษย์ของประเทศ โดยเปิดศูนย์อบรมทางภาษาและวัฒนธรรมและการศึกษาแบบครบวงจร (จัดการอบรมภาษาและวัฒนธรรม รับรองคุณภาพด้านภาษา (MU-Thai test) และสร้างผู้ประกอบการด้านภาษาและวัฒนธรรม)
๔. สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้ โดยการวิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่เมืองรองและภูมิภาค (จีน อินเดีย
และอาเซียน) ด้วยต้นทุนทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
๕. เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ด้วยทุนทางวัฒนธรรม ด้วยโครงการส่งเสริมความเข้มแข็งของครอบครัวไทยผ่านภาษาและวัฒนธรรมร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์