นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๒๑/๒๕๖๔ ของสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล

วันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๒๑/๒๕๖๔ ของสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล เพื่อกำหนดเป้าหมาย แผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๔–๒๕๖๕ และรับฟังผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้ง การพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยผู้บริหารสถาบันเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น ผ่านการประชุมออนไลน์ โดยมีประเด็น ดังต่อไปนี้

การดำเนินการตามเป้าหมายที่ผ่านมาและคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
๑. มุ่งเป็น World-Class Research Institute ทั้งด้านการศึกษา วิจัย และนวัตกรรม เสริมสร้างความเข้มแข็งของศูนย์วิจัยฯ และหลักสูตร
๒. จัดตั้งศูนย์วิจัยประยุกต์และนวัตกรรมกุ้ง เพื่อรองรับการวิจัยมุ่งเป้าและการถ่ายทอดองค์ความรู้ภาคอุตสาหกรรมการเกษตรและการส่งออก
๓. โครงการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ที่สร้างองค์ความรู้ในระดับ frontier นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมที่มีมูลค่าสูง เช่น วัคซีน JE
๔. มี Biologics Candidates ต้นแบบที่มีศักยภาพในการผลิตเชิงพาณิชย์อย่างน้อย ๑ ตัว

เป้าหมายที่จะดำเนินการเพิ่มเติมในอีก ๒ ปีข้างหน้า
๑. โครงการศูนย์วิจัยประยุกต์และพัฒนานวัตกรรมกุ้ง
๒. โครงการจัดทำห้อง Sleep lab และ core facility เพื่อรองรับการศึกษาวิจัยด้าน chronobiology (Sleep Laboratory & Chronobiology Core Facility)
๓. โครงการปรับปรุงอาคารวิจัยและพัฒนาวัคซีน phase ๑-๒
๔. โครงการภายใต้ reinventing university (๑) ปรับปรุงหลักสูตรปริญญาเอกสาขาชีววิทยาศาสตร์เชิงระบบ (๒) จัดทำหลักสูตรฝึกอบรม Upskill/Re-skill ทางด้านการผลิตชีววัตถุ การตรวจสอบคุณภาพชีววัตถุและวัคซีน และ (๓) อาคารวิจัยประยุกต์และพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างห้องปฏิบัติการ BSL3
๕. โครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ชีวการแพทย์ เพื่อการพัฒนากระบวนการผลิต recombinant protein และ biologics (๑) อนุสิทธิบัตร/สิทธิบัตรกระบวนการผลิตโปรตีน/biologics (๒) เป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ระดับ TRL4 ที่ผ่านการทดสอบในระดับสัตว์ทดลอง และ (๓) การพัฒนาต้นแบบระดับอุตสาหกรรม หรือการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือจำหน่ายเชิงพาณิชย์

ทั้งนี้ ที่ประชุม ได้กล่าวชื่นชมและสนับสนุนแนวทางการดำเนินงานของสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุลซึ่งเห็นถึงการพัฒนาในทุก ๆ ด้านอย่างชัดเจน สามารถทำงานได้อย่างครบวงจร และมีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับ SDGs รวมทั้งสถาบัน ฯ สามารถเป็นต้นแบบให้กับส่วนงานภายในมหาวิทยาลัย ในเรื่องการเพิ่มผลงานตีพิมพ์ (Publication) และผลงานที่ถูกอ้างอิง (Citation) รวมทั้งเรื่อง ก.พ.อ./เชี่ยวชาญคลินิกได้ และมีนักวิจัยที่มีประสบการณ์สูง เสนอนำองค์ความรู้ที่มีร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เสนอแนะให้นำผลงานวิจัยของสถาบันฯ จัดทำเป็น VDO Clip เผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับสถาบันฯ