วันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล เข้าเยี่ยมส่วนงาน ครั้งที่ ๒๔/๒๕๖๓ (Council Visit) ณ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อกำหนดเป้าหมาย แผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๓ – ๒๕๖๔ และรับฟังผลสำเร็จของการดำเนินการที่ผ่านมา รวมทั้งการพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมี รองศาสตราจารย์ นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว พร้อมผู้บริหารสถาบันฯ และผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมรับฟังความคิดเห็นในการเข้าเยี่ยมส่วนงาน (Council Visit) ในครั้งนี้ด้วย โดยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล มีประเด็นความโดดเด่นดังต่อไปนี้
ผลสำเร็จที่ภาคภูมิใจของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ในระยะเวลา ๔ ปีที่ผ่านมา
๑. การขยายผลเชิงนโยบายพัฒนาทักษะการคิดเชิงบริหาร (EF) สู่การปฏิบัติในกลุ่มครูปฐมวัย และการให้นโยบาย EF เด็กปฐมวัยของสภาการศึกษา
๒. ขยายผลจากการพัฒนาการตรวจประเมินพัฒนาการ DENVER II มีนโยบายการตรวจคัดกรอง DSPM ทั้งประเทศ และมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติได้ประกาศเป็นนโยบายที่ใช้ทั่วประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจาก ๔ กระทรวงหลัก
๓. มติสมัชชาสุขภาพ พื้นที่เล่นสู่การเรียนรู้ของเด็กในระดับชุมชนสู่นโยบายสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และนโยบายเล่นเปิดโลกของกระทรวงสาธารณสุข
๔. ผลกระทบจากสารโลหะหนัก ฟื้นฟูภาวะบกพร่องทางสติปัญญา และการเรียนรู้ในเด็กประถมศึกษาปีที่ ๔-๖ ถูกนำเป็นข้อมูลประกอบ การพิจารณาเพื่อต่อสู้คดีระหว่างประเทศของรัฐบาล
๕. หลักสูตรบูรณาการ “การออกแบบชีวิต” (Life Design) ตอบสนองความต้องการของนักศึกษาระดับปริญญาตรี และบุคคลทั่วไป
เป้าหมายและแผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๓ – ๒๕๖๔
๑. การขยายผลสู่ระดับนโยบาย (๑) รูปแบบการจัดบริการการพัฒนาเด็กปฐมวัยสู่นโยบายสภาการศึกษาและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (๒) รูปแบบการเยี่ยมบ้านโดยกลุ่มบูรณาการสุขภาพ สู่นโยบายการดูแลเด็กปฐมวัยโดย อปท. (๓) จัดฝึกอบรมหลักสูตรการคิดเชิงบริหาร (EF)
๒. พัฒนารูปแบบเชิงพื้นที่ “เมืองเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว” อย่างน้อย ๓ พื้นที่
๓. พัฒนารูปแบบเชิงวัฒนธรรมองค์กร “ความรับผิดชอบต่อเด็กและครอบครัวขององค์กร” เพื่อขยายผลสู่การปฏิบัติในองค์กรภาครัฐ/เอกชน
๔. มาตรการเฝ้าระวังและปกป้องเด็กร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข
๕. ขยายผลหลักสูตรการเรียนร่วม ครอบคลุมผู้เรียน ๒,๐๐๐ คน ให้ได้ ๕ หลักสูตร