คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยเยี่ยมชมส่วนงาน (Council Visit) ครั้งที่ ๒๙/๒๕๖๓ ณ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้

วันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล เข้าเยี่ยมส่วนงาน ครั้งที่ ๒๙/๒๕๖๓ (Council Visit) ณ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ เพื่อกำหนดเป้าหมาย แผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๓ – ๒๕๖๔ และรับฟังถึงผลสำเร็จของการดำเนินการที่ผ่านมา รวมทั้งการพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ พร้อมผู้บริหารสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ และผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมรับฟังความคิดเห็นในการเข้าเยี่ยมส่วนงาน (Council Visit) ในครั้งนี้ด้วย โดยสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มีประเด็นความโดดเด่นดังต่อไปนี้

ผลสำเร็จที่ภาคภูมิใจของสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ในระยะเวลา ๔ ปีที่ผ่านมา
๑. จำนวนผลงานวิจัยตีพิมพ์วารสารวิชาการระดับนานาชาติ/จำนวนบุคลากรสายวิชาการ สูงกว่าผลลัพธ์ในภาพรวมระดับมหาวิทยาลัย และอยู่อันดับ ๑ ของประเทศ และอันดับ ๖๗ ในทวีปเอเชียแปซิฟิก (SciVal ด้าน Education วันที่ ๓๐ ก.ย. ๖๒) และได้รับรางวัลระดับนานาชาติและระดับชาติ เช่น Gold Medal Award จาก Taiwan (พ.ศ. ๒๕๖๐) รางวัล สาขาการประดิษฐ์และนวัตกรรม ม.มหิดล (พ.ศ.๒๕๕๙)
๒. ผลิตภัณฑ์จากการวิจัย (I-Kit, I-Reagent, I-Reader, ผลิตภัณฑ์กลุ่ม Silica Aerogel) ก่อให้เกิดรายได้อย่างต่อเนื่อง
๓. ระดับปริญญาเอกและโท สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา (นานาชาติ) ปัจจุบันมีนักศึกษา ๖๓ คน (ร้อยละ ๑๑ เป็นนักศึกษาต่างชาติ) ผู้สำเร็จการศึกษามีผลงานวิจัยตีพิมพ์วารสารวิชาการนานาชาติ> ๑ เรื่อง/คน และ ผู้ใช้บัณฑิตพึงพอใจในระดับดี-ดีมาก
๔. องค์ความรู้จากกระบวนการวิจัยและพัฒนารวมทั้งนวัตกรรมทางการศึกษา นำมาบูรณาการกับพันธกิจบริการวิชาการ เช่น โครงการ    เปิดโลกวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม, IL Short Course, การอบรมอาจารย์ใหม่ การพัฒนาเด็กและเยาวชนบุคลากรทางการศึกษาภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
๕. การบริหารงบประมาณปี พ.ศ. ๒๕๖๑ และ พ.ศ. ๒๕๖๒ มีรายได้สุทธิเป็นบวก

เป้าหมายและแผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๓ – ๒๕๖๔
๑. ผลักดันหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและมหาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา ให้ได้รับการรับรอง AUN-QA ระดับมหาวิทยาลัยมหิดล ในปีงบฯ ๒๕๖๓ และระดับอาเซียนในปีงบฯ ๒๕๖๔
๒. ผลักดันให้บุคลากรเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการที่สูงขึ้น โดยมีเป้าหมายในปีงบฯ ๒๕๖๔ คือ รศ. ๖ คน และ ผศ. ๕ คน
๓. ควบรวมกับศูนย์จิตตปัญญาศึกษาตามนโยบายของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ในปีงบฯ ๒๕๖๔
๔. ผลักดัน Startup / Business Development Unit (BDU) โดยขยายขอบเขตการดำเนินงานไปสู่ AI Robot, Neuroscience, Transformative Education ซึ่งจะทำให้มี Short Course เพิ่มขึ้นอีก ๒ หลักสูตรภายในปีงบฯ ๒๕๖๔ (หลักสูตร NeuroLeadership, หลักสูตร NeuroMarketing)
๕. Modular Course Design จำนวน ๒ วิชา ภายในปีงบฯ ๒๕๖๔ เช่น วิชา Measurement and Evaluation in Education และวิชา Psychology and Philosophy for Education