คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยเยี่ยมชมส่วนงาน (Council Visit) ครั้งที่ ๓๑/๒๕๖๓ ณ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน

วันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล เข้าเยี่ยมส่วนงาน ครั้งที่ ๓๑/๒๕๖๓ (Council Visit) ณ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน เพื่อกำหนดเป้าหมาย แผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๓ – ๒๕๖๔ และรับฟังถึงผลสำเร็จของการดำเนินการที่ผ่านมา รวมทั้งการพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน พร้อมผู้บริหารคณะเวชศาสตร์เขตร้อน และผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมรับฟังความคิดเห็นในการเข้าเยี่ยมส่วนงาน (Council Visit) ในครั้งนี้ด้วย โดยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มีประเด็น
ความโดดเด่นดังต่อไปนี้

ผลสำเร็จที่ภาคภูมิใจของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ในระยะเวลา ๔ ปีที่ผ่านมา
๑. ผลงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จและสร้างชื่อเสียงระดับประเทศและระดับนานาชาติ เช่น จำนวนผลงานวิจัยตีพิมพ์ ๓ เรื่อง/คน/ปี
ทุนวิจัย ๑.๕ ล้าน/คน/ปี ผลงานอ้างอิง ๒๐ ครั้ง/เรื่อง/ปี จำนวน Field-Weighted Citation Impact เฉลี่ยย้อนหลัง ๕ ปี ที่ระดับ ๒.๐๙ สามารถเทียบเคียงมหาวิทยาลัยระดับโลกด้านโรคเขตร้อน
๒. หลักสูตรอายุรศาสตรเขตร้อนคลินิกมหาบัณฑิต (นานาชาติ) ได้รับรองมาตรฐานคุณภาพหลักสูตรตามเกณฑ์ AUN-QA ระดับอาเซียน และหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว ได้เปิดเป็นหลักสูตรแรกของโลก
๓. คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน คณะฯ ได้รับการ Re-recognition ครั้งที่ ๔ จาก SIDCER-FERCAP และได้รับการรับรองคุณภาพจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ (NECAST) ระดับ ๓
๔. ห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านโรคเขตร้อน (TMDR) ได้รับรองมาตรฐานระดับสากล ISO 15189:2012, ISO 15190:2003 และ
ได้รับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัย (ESPReL)
๕. หลักสูตร “Biosafety Training” ได้รับการรับรองหลักสูตรฯ จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
๖. ระบบเฝ้าระวังระดับประเทศ  ๒ ระบบ ที่พัฒนาโดยคณะเวชศาสตร์เขตร้อนนั้น ถูกนำไปใช้อย่างถาวรในเว็บไซต์ของ (MOPH)
คือ ระบบเฝ้าระวังโรคไข้มาลาเรีย และวัณโรค

เป้าหมายและแผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๓ – ๒๕๖๔
๑. เปิดให้บริการห้องปฏิบัติการวิจัยชีวนิรภัยระดับ ๓ หรือ BSL3 ที่มีเทคโนโลยีความปลอดภัยระดับสูง
๒. ระบบการเรียนการสอนออนไลน์ ระดับบัณฑิตศึกษา และหลักสูตรอบรมระยะสั้น (Training course) เต็มรูปแบบ และพัฒนาหลักสูตรให้ได้รับการรับรองตามเกณฑ์ AUN-QA ระดับอาเซียน เพิ่มอีก ๒ หลักสูตร
๓. ระบบ Smart Hospital นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการบริหารจัดการระบบฐานข้อมูล เพิ่มประสิทธิภาพการจัดบริการประชาชน ทั้งด้านความสะดวกรวดเร็ว และความปลอดภัย
๔. เป็นศูนย์กลางรองรับการเป็น EC Secretariat ของย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (Yo-thi Medical Innovation District: YMID)