พิธีลงนามการจัดทำข้อตกลงการปฏิบัติงานผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดลประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔

พิธีลงนามการจัดทำข้อตกลงการปฏิบัติงานผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่าง นายกสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ ๕๖๑ เมื่อวันพุธที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง ชั้น 5 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

พิธีทำบุญตักบาตร บำเพ็ญกุศลถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต

วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๓ ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บริหารส่วนงาน และบุคลากรจากส่วนงานต่าง ๆ เข้าร่วมพิธีทำบุญตักบาตร บำเพ็ญกุศลถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต โดยมีอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในพิธี จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย จุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จากนั้น พระภิกษุสงฆ์ ๑๐ รูป ประกอบพิธีเจริญพุทธมนต์ สำหรับกิจกรรมในพิธีบำเพ็ญกุศลฯ ได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ สามเณร จำนวน ๕๙ รูป จากวัดมหาสวัสดิ์ โดยมีบุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดล นำข้าวสารอาหารแห้ง มาร่วมในพิธีทำบุญตักบาตร ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๒

วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปในการพิธีพระราชทานปริญญาบัตร และประกาศนียบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันสมทบ ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๒ ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เป็นวันแรก พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๒ มีผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งสิ้น ๖,๓๒๕ ราย โดยแบ่งเป็น ๒ วัน คือ วันจันทร์ที่ ๕ และวันอังคารที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๓ ซึ่งในวันจันทร์ที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๓ ช่วงบ่าย มีผู้ทรงคุณวุฒิเข้ารับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน ๔ ราย และมีผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จำนวน ๒,๐๙๘ ราย ซึ่งได้แก่บัณฑิตจาก บัณฑิตวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์

ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://mahidol.ac.th/th/2020/grad2562-oct5/

นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เนื่องในวันมหิดล ประจำปี ๒๕๖๓

วันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดลร่วมพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เนื่องในวันมหิดล ประจำปี ๒๕๖๓ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย คณบดี และผู้บริหารจากส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน และนักศึกษา ร่วมพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ การจำหน่ายธงเนื่องในวันมหิดล และการลงนามถวายสักการะ ณ ลานพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

“วันมหิดล” เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๔ กันยายน ของทุกปี ด้วยพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงวางรากฐานแก่วงการแพทย์ และการสาธารณสุขของไทยให้เจริญก้าวหน้า บุคลากรทางการแพทย์ การสาธารณสุข จึงได้ถือวัน “มหิดล” เพื่อถวายสักการะ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระองค์ให้เป็น “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย“

สภามหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เนื่องในวันมหิดล ประจำปี ๒๕๖๓

วันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๓ สภามหาวิทยาลัยมหิดลร่วมพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เนื่องในวันมหิดล ประจำปี ๒๕๖๓ โดยมี ศาสตราจารย์ นพ. บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลา พร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล คณบดี ผู้อำนวยการ บุคลากร นักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ในโอกาสนี้ มีหน่วยงานภายนอกบริเวณใกล้เคียงมหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะฯ ณ ลานพระราชานุสาวรีย์ฯ ศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
“วันมหิดล” เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๔ กันยายน ของทุกปี ด้วยพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงวางรากฐานแก่วงการแพทย์ และการสาธารณสุขของไทยให้เจริญก้าวหน้า บุคลากรทางการแพทย์ การสาธารณสุข จึงได้ถือวัน “มหิดล” เพื่อถวายสักการะ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระองค์ให้เป็น “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย“

สภามหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแสดงความยินดี ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ได้รับพระบรม ราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล

วันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ ๕๖๐ ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ในนามกรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่ง เป็นผู้แทนมอบกระเช้าดอกไม้แสดงความยินดี เนื่องในโอกาสที่ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

สภามหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแสดงความยินดีแด่ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ดำรงตำแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล

วันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภาพมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยคณะกรรมการสภา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแสดงความยินดี เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้ง ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ ให้ดำรงตำแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่วันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ ๕๕๙ ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง ชั้น ๕ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

สธ. จัดประชุมวิชาการสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา นวมินทราชินี

กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมวิชาการสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา นวมินทราชินี แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สู่องค์กรสร้างรอบรู้สุขภาพ เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ป้องกันโรคติดต่อไม่เรื้อรัง เป็นต้นแบบให้ รพ.สต. ๙,๐๐๐ กว่าแห่งทั่วประเทศ
          วันนี้ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ที่ โรงแรมมิราเคิล กทม. ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานกรรมการมูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา นวมินทราชินี เปิดการประชุมวิชาการและมหกรรมตลาดนัดวิชาการ ประจำปี ๒๕๖๓ “การพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา นวมินทราชินี  สู่องค์กรอบรู้ด้านสุขภาพที่ยั่งยืน” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ทำงานในการเป็นองค์กรรอบรู้สุขภาพ จัดโดยมูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา นวมินทราชินี โดยมีคณะกรรมการมูลนิธิฯ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยฯ เข้าร่วมการประชุมกว่า ๓๐๐ คน
          ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา นวมินทราชินี เป็นสถานีอนามัยขนาดใหญ่ มีศักยภาพในการดูแลรักษาประชาชนในพื้นที่ห่างไกลที่เจ็บป่วยด้วยโรคทั่วไป สามารถช่วยลดความแออัดให้กับโรงพยาบาลได้ แต่หากเจ็บป่วยรุนแรงมีระบบส่งต่อไปยังโรงพยาบาล นอกจากนี้ ยังเป็นต้นแบบเรื่องความสะอาดด้านอาคารสถานที่ และจัดสิ่งแวดล้อม เป็น Green and clean hospital  มีระบบที่เอื้อต่อการบริการผู้สูงอายุ ผู้พิการ เจ้าหน้าที่มีจิตบริการ รวมทั้งมีการพัฒนาศักยภาพ นวัตกรรมบริการอย่างต่อเนื่อง อาทิ แพทย์แผนไทย คุ้มครองผู้บริโภค ทันตสาธารณสุข พัฒนาการเด็ก พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และร่วมกับชุมชนในพื้นที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีความตระหนักรอบรู้ด้านสุขภาพ ในการดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัวได้ และจากการตรวจเยี่ยมสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ ที่นำร่องโครงการองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพทั้ง ๑๖ แห่ง พบว่า ประชาชนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เช่น ออกกำลังกาย เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลด หวาน มันเค็ม หลีกเลี่ยงการสูบหรี่และดื่มสุรา ทำให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
          ในการประชุมวิชาการวันนี้ ได้นำบทสรุปการดำเนินงานโครงการองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพของสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้ง ๑๖ แห่ง นำมาขยายผลไปสู่สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ ที่เหลืออีก ๗๗ แห่ง สร้างความตระหนักในการรอบรู้ด้านสุขภาพ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของชุมชนในพื้นที่ให้มากขึ้น นอกจากนี้ มีการนำเสนอรูปแบบการพัฒนาการเด็กแบบบูรณาการ ในโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ มหัศจรรย์ ๑,๐๐๐ วันแรกแห่งชีวิต เพื่อการดูแลเด็กในพื้นที่ให้มีคุณภาพครบทุกมิติร่วมกับชุมชน
          “ขอให้สถานีอนามัยที่ได้รับพระราชทานนาม เป็นองค์กรคุณธรรม นำสุขภาพระดับปฐมภูมิ ที่สง่างามและสมพระเกียรติ เป็นต้นแบบให้ รพ.สต.อื่น ๆ อีก ๙,๐๐๐ กว่าแห่งทั่วประเทศ สร้างประชากรคุณภาพ ผ่านโครงการมหัศจรรย์ ๑,๐๐๐ วัน ช่วยนำพาประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าว
          ทั้งนี้ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา นวมินทราชินี สร้างขึ้นในโอกาสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา ในปี ๒๕๓๕ รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดสร้างสถานีอนามัยเพื่อเทิดพระเกียรติ และได้รับพระราชทานชื่อว่า สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา นวมินทราชินี มีจำนวน ๘๒ แห่ง และสถานีอนามัยที่ได้รับพระราชทานนามจากพระบรมวงศานุวงศ์อีกจำนวน ๑๑ แห่ง

“โครงการพัฒนานักบริหารระดับกลาง มหาวิทยาลัยมหิดล รุ่นที่ 19” (MU-EDP#19)

มหาวิทยาลัยมหิดล จัด“โครงการพัฒนานักบริหารระดับกลาง มหาวิทยาลัยมหิดล รุ่นที่ ๑๙” (MU-EDP#19) วันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๓

โครงการพัฒนานักบริหารระดับกลาง รุ่นที่ ๑๙ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๘ สิงหาคม – วันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ โดยเป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้มีศักยภาพในการดำรงตำแหน่งบริหาร เพิ่มความรู้ความสามารถ ทักษะ และทัศนคติที่ถูกต้องในการบริหารจัดการ ตลอดจนมีค่านิยมและจริยธรรมที่เหมาะสม รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายการบริหารงานให้สอดคล้องตามนโยบายและเป้าหมายของมหาวิทยาลัย โดยมีหลักสูตรการฝึกอบรมครอบคลุมกลุ่มวิชา ได้แก่ การบริหารตนเอง การบริหารองค์กรและภาวะผู้นำ เครื่องมือและเทคนิคในการบริหารจัดการ การจัดการทุนในภาวการณ์แข่งขัน และการบริหารจัดการสู่อนาคต จัดขึ้นระหว่างวันที่ ระหว่างวันที่ ๑๘ สิงหาคม – วันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ.  ๒๕๖๓

ติดตามข้อมูลข่าวสารของกองทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยมหิดลเพิ่มเติมได้ที่ https://op.mahidol.ac.th/hr/

เสวนา MU-New Normal วิถีปกติใหม่ในมหาวิทยาลัยมหิดล ในหัวข้อเรื่อง IT วิถีปกติใหม่กับการเว้นระยะห่างทางสังคมในมหาวิทยาลัยมหิดล

มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนา MU-New Normal วิถีปกติใหม่ ในมหาวิทยาลัยมหิดล ในหัวข้อ “IT วิถีปกติใหม่กับการเว้นระยะห่างทางสังคมในมหาวิทยาลัยมหิดล” วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๓ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนา MU-New Normal วิถีปกติใหม่ ในมหาวิทยาลัยมหิดล ในหัวข้อ “IT วิถีปกติใหม่กับการเว้นระยะห่างทางสังคมในมหาวิทยาลัยมหิดล” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดรธัชวีร์ ลีละวัฒน์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและวิทยาเขตกาญจนบุรี และ รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ร่วมการเสวนา โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญยศ ปลื้มปิติวิริยะเวช และอาจารย์ ดร.วันวิสาข์ ศรีสุเมธชัย สมาชิกสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และ รองศาสตราจารย์ ดร.นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร ร่วมรับฟังการเสวนาในครั้งนี้ ณ ห้องประชุม 411 ชั้น 4 ศูนย์การเรียนรู้มหิดล ศาลายา

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า เนื่องจากระบบ IT มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นรูปแบบ New Normal ทางด้าน IT จึงมีอายุไม่นานมาก ซึ่งเป็นรูปแบบนี้มาหลายปี จะเห็นได้จากปัจจุบัน สื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ถูกแทนที่ด้วย สื่อดิจิตอล ซึ่งข้อมูลเปิดเผยว่า สมาร์ทโฟน และโน๊ตบุ๊ค เป็นอุปกรณ์ลำดับต้นๆที่ถูกนำมาใช้ในช่วงวิกฤตนี้ เพราะสามารถใช้แทนอุปกรณ์ได้หลายอย่าง ทั้งยังสามารถสร้างความเป็น Social Distancing ได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลมีความพร้อมที่จะสนับสนุนให้นักศึกษาและบุคลากรนำอุปกรณ์เหล่านี้มาใช้ในช่วงสถานการณ์ Covid-19 และช่วงที่เกิดภาวะคุกคาม โดยมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระเบียบ ครอบคลุมทั้งในเรื่องการเรียนการสอน รวมถึงสภาพความเป็นอยู่ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างดี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธัชวีร์ ลีละวัฒน์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและวิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งเน้นการเป็น Digital University จึงมีการวางกรอบในการใช้ระบบ IT เข้ามาสนับสนุนการทำงาน การเปลี่ยนแปลงด้าน IT ภายในมหาวิทยาลัยจึงมีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง ตามลำดับ แต่ด้วยสถานการณ์ Covid-19 ทำให้ระบบที่มหาวิทยาลัยวางแผนไว้ถูกนำมาใช้เร็วขึ้น และเกิดการยอมรับในเทคโนโลยีทั้งในกลุ่มนักศึกษาและบุคลากร มากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะไม่ย้อนกลับไปใช้วิธีการเรียนการสอนและปฏิบัติงานแบบเดิมๆ ซึ่งความท้าทายของมหาวิทยาลัย คือการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้งานทางด้าน IT เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรสามารถใช้งานได้แบบ Anywhere Anyplace Anytime ด้วยการเร่งสร้าง Platform ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน การเรียนการสอน ให้ครอบคลุมและตอบสนองยุทธศาสตร์ต่างๆของมหาวิทยาลัยให้มากที่สุด

รองศาสตราจารย์ ดร. กิติกร จามรดุสิต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในส่วนของพื้นที่ส่วนกลางภายในมหาวิทยาลัยนั้น กองกายภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้รับผิดชอบ และพื้นที่ของส่วนงานก็จะเป็นหน้าที่ของส่วนงานนั้นๆรับผิดชอบเป็นหลัก ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลดำเนินการตามคำสั่งของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) อย่างเคร่งครัดในการควบคุมระยะห่าง ทั้งนี้ ในส่วนของห้องเรียนและบริการต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยมีบริการให้นักศึกษาและบุคลากร ได้มีการดูแลเรื่องการเว้นระยะห่าง สุขอนามัย และการรักษาความสะอาดอย่างเคร่งครัด โดยมหาวิทยาลัยได้ทำเป็นคู่มือเพื่อให้ส่วนงานต่างๆได้นำไปปรับใช้ตามความเหมาะสมและเป็นมาตรฐานเดียวกัน