นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๓/๒๕๖๔ ของวิทยาลัยนานาชาติ

วันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๓/๒๕๖๔ ของวิทยาลัยนานาชาติ เพื่อกำหนดเป้าหมาย แผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๔-๒๕๖๕ และรับฟังผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งการพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมี รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจุฬธิดา โฉมฉาย คณบดี วิทยาลัยนานาชาติ พร้อมด้วยผู้บริหารวิทยาลัย เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น ผ่านการประชุมออนไลน์โปรแกรม Zoom Meeting โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้

การดําเนินงานตามเป้าหมายที่ผ่านมาและคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
๑. สามารถสร้างความยั่งยืนขององค์กร และ ความเป็นเลิศด้านการเรียนการสอน
๒. มีการพัฒนาการเรียนการสอนแบบออนไลน์ที่ตอบสนองผู้เรียนยุคใหม่
๓. สามารถนำศักยภาพและความเชี่ยวชาญของบุคลากรมาบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน
๔. ได้ดำเนินการสร้าง Pathway Programs และความร่วมมือกับต่างประเทศ

เป้าหมายที่จะดำเนินการเพิ่มเติมในอีก ๒ ปีข้างหน้า
๑. ความยั่งยืนขององค์กร: ส่งเสริมด้านสุขภาพ (Health) และความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) สร้าง Global Talent พัฒนาองค์โดยใช้ SDG principles สร้าง Value chain of iHE และ Data-driven Organization
๒. เป็นเลิศทางการเรียนการสอน – สร้างนวัตกรรมทางการศึกษา (Innovative Curriculum) เสริมสร้างประสบการณ์เรียนรู้ของนักศึกษา และสร้าง Online courses (MUIC CONNECT)
๓. งานวิจัยและความร่วมมือ – สร้างจิตวิญญาณ ความมุ่งมั่น และความร่วมมือภายในวิทยาลัยในการสร้างนวัตกรรม และส่งเสริมสนับสนุนการสร้างงานวิจัย และกิจกรรมแบบสหวิทยาการ (Interdisciplinary)

ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้กล่าวชื่นชมแนวทางการดำเนินงานของวิทยาลัยฯ ในด้านต่างๆ พร้อมให้ข้อเสนอแนะ อาทิ การรักษาศักยภาพความเป็น International College ชั้นนำของประเทศและภูมิภาค การพัฒนาหลักสูตรเป็น Flexible Education Platform และมุ่งดำเนินการทั้งในรูปแบบ Hybrid (Online/On campus และการฝึกประสบการณ์นอกห้องเรียน) สามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียนยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี

นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ ของบัณฑิตวิทยาลัย

วันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ ของบัณฑิตวิทยาลัย เพื่อกำหนดเป้าหมาย แผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๔-๒๕๖๕ และรับฟังผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งการพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงพัชรีย์ เลิศฤทธิ์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย พร้อมด้วยผู้บริหารคณะ เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น ผ่านการประชุมออนไลน์โปรแกรม Zoom Meeting

การดําเนินงานตามเป้าหมายที่ผ่านมาและคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
๑.บัณฑิตวิทยาลัย สามารถผลิตบัณฑิตระดับบัณฑิตศึกษาให้มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร พ.ศ. ๒๕๕๘
๒.สร้างความร่วมมือกับต่างประเทศ (อาเซียนและเอเชีย) มากขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนนักศึกษาต่างชาติ
๓.มีความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน จัดทำหลักสูตร Short Course Trainings และ MAP Soft Skills
๔.นำระบบดิจิทัล มาใช้ดำเนินการด้านการศึกษา ระดับบัณฑิตศึกษา
๕.ปรับการบริหารจัดการระบบภายในส่วนงาน เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

เป้าหมายที่จะดำเนินการเพิ่มเติมในอีก ๒ ปีข้างหน้า
๑.มีความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในการผลิตหลักสูตรและบัณฑิต ที่ตรงกับความต้องการ
๒.ขยายการจัดการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษาไปยังประเทศอาเซียน
๓.ขยายการดำเนินการ ด้านการจัด Short Course Trainings ในทุกสาขาวิชา
๔.ดำเนินการพัฒนา และจัดอบรม 21st Century Skills ให้นักศึกษาอย่างเป็นระบบ
๕.ระบบบริหารจัดการด้านการศึกษา มีความยืดหยุ่นสูงขึ้น และเป็นระบบดิจิทัลมากกว่า ร้อยละ ๙๕
๖.บุคลากรบัณฑิตวิทยาลัย มากกว่าร้อยละ ๘๐ มีความพร้อมรับมือกับนโยบายและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กล่าวชื่นชมการดำเนินงานของบัณฑิตวิทยาลัย พร้อมให้ข้อเสนอแนะในการสร้างจุดเด่นของหลักสูตรบัณฑิตศึกษา เช่น ปรับรูปแบบ Internship เพิ่ม Short courses Online Degree /Non-degree และสามารถสะสม Credit ได้ เป็นต้น

Website MU : https://mahidol.ac.th/th/2021/council-visit-grad-2/

ติดตามข่าวสารบัณฑิตวิทยาลัย เพิ่มเติมที่ : www.graduate.mahidol.ac.th

นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อกำหนดเป้าหมาย แผนดำเนินการปีงบประมาณ ๒๕๖๔-๒๕๖๕ และรับฟังผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งการพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พร้อมด้วยผู้บริหารคณะ เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น ผ่านการประชุมออนไลน์โปรแกรม Zoom Meeting โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้

การดําเนินงานตามเป้าหมายที่ผ่านมาและคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
๑. จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมีบทบาทสำคัญระดับประเทศ ซึ่งคณะฯ กำลังดำเนินการถอดบทเรียน การบริหารจัดการ และการรับมือสถานการณ์ดังกล่าว
๒. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สืบสานพระราชปณิธานของรัชกาลที่ ๕ ในการเป็นโรงพยาบาลของผู้ยากไร้ โดยสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และชี้นำสังคมได้อย่างโดดเด่น เช่น Smart Hospital อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ระบบขนส่งสาธารณะภายใต้โครงการอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช ฯลฯ
๓. เพิ่มการสื่อสารสู่สาธารณะ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบผลการดำเนินงานของศิริราชมากยิ่งขึ้น
๔. ในอนาคตคณะฯ สามารถเพิ่มรายได้จากนวัตกรรม ด้วยความพร้อมทั้งบุคลากรและผลงานวิจัยระดับสูง โดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล จะสร้างความร่วมมือเพื่อผลักดันให้นักวิจัยได้เข้าใจกระบวนการของนวัตกรรมต่อไป

เป้าหมายที่จะดำเนินการเพิ่มเติมในอีก ๒ ปีข้างหน้า
๑. โครงการนำร่องโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital)
๒. ระบบสารสนเทศบริหารการศึกษา SiCMS
๓. Siriraj Research Sandbox
๔.โครงการศิริราชสัปปายสถานเพื่อ การบริรักษ์
๕. โครงการอาคารรักษาพยาบาล และสถานีศิริราช

ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้กล่าวชื่นชมการดำเนินงานของคณะที่เป็นต้นแบบในทุกพันธกิจของมหาวิทยาลัย ประเทศชาติ และได้ยกระดับมาตรฐานไปสู่ระดับนานาชาติ

Website: https://mahidol.ac.th/th/2021/pa-visit-si-2/

ติดตามข่าวสภามหาวิทยาลัยมหิดล ที่ www.uc.mahidol.ac.th ติดตามข่าวคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพิ่มเติมที่ www.si.mahidol.ac.th

นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแถลงผลสำเร็จของงานวิจัยและนวัตกรรม เรื่อง “Cold Chain Logistics: การพัฒนาโซ่ความเย็นของวัคซีน COVID-19

๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแถลงผลสำเร็จของงานวิจัยและนวัตกรรม เรื่อง “Cold Chain Logistics: การพัฒนาโซ่ความเย็นของวัคซีน COVID-19 เพื่อควบคุมอุณหภูมิและติดตามสอบย้อนกลับในการขนส่งและเก็บรักษา” ในการแถลงข่าว เรื่อง “วิจัยและนวัตกรรมนำไทยสู้ภัย COVID-19” จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่พร้อมใช้ และถูกนำไปใช้ประโยชน์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 แล้วในหลายด้าน ณ ห้องโถงชั้น ๑ อาคารอุดมศึกษา ๒ สำนักงานปลัดกระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ถนนศรีอยุธยา) ภายหลังการแถลงข่าว ได้มีพิธีส่งมอบนวัตกรรม “ห้อง ICU ความดันลบเคลื่อนที่สำหรับติดตั้งในโรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนาม” ให้แก่ ๕ องค์กรภาครัฐ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดย ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กรมการแพทย์ กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้รับมอบ

Facebook: https://www.facebook.com/53202464011/posts/10161253625439012/

Website: https://mahidol.ac.th/th/2021/cold-chain-logistics/

ติดตามข้อมูลคณะวิศวกรรมศาสตร์เพิ่มเติม https://www.eg.mahidol.ac.th

การประชุมคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของอธิการบดี ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔

การประชุมคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของอธิการบดี ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ วันอังคารที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๓๐-๑๒.๐๐ ณ ห้อง ๕๑๕ สำนักงานอธิการบดี ชั้น ๕ มหาวิทยาลัยมหิดล

นายกรัฐมนตรี ฉีดวัคซีนโควิด 19 แอสตร้าเซนเนก้า หลัง WHO ยืนยันไม่เกี่ยวกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด

นายกรัฐมนตรี และอาจารย์แพทย์อาวุโส ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า หลังได้รับการยืนยันจากองค์การอนามัยโลกไม่เกี่ยวข้องกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด พร้อมฉีดให้คณะรัฐมนตรีตามความสมัครใจ สร้างความมั่นใจประชาชน วันนี้ (16 มีนาคม 2564) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และอาจารย์แพทย์อาวุโส รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเจรจาได้วัคซีนมาใช้ในระยะเร่งด่วนสำหรับฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 117,300 โดส พร้อมคณะรัฐมนตรีที่สมัครใจรับการฉีดวัคซีน นายอนุทินกล่าวว่า ในวันนี้ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำประเทศ แสดงเจตจำนงค์ที่จะรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน หลังได้รับการยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดจากองค์การอนามัยโลกและหน่วยงานกำกับคุณภาพยาของอียู โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมวัคซีนทั้งจากแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค เพื่อฉีดให้กับคณะรัฐมนตรีที่สมัครใจ และอาจารย์แพทย์อาวุโส อาทิ ศ.คลิกนิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นพ.ยง ภู่วรวรรณ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา นพ.โสภณ เมฆธน ซึ่งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ให้กับผู้นำประเทศ และคณะรัฐมนตรี เนื่องจากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง มีการเดินทางและพบปะผู้คนจำนวนมาก ป้องกันการป่วยรุนแรง ลดโอกาสรับเชื้อและแพร่เชื้อ โดยมีทีมแพทย์จากสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค ให้บริการฉีดวัคซีนตาม 8 ขั้นตอนของระบบกระทรวงสาธารณสุข เริ่มจากการลงทะเบียนตรวจร่างกาย ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต คัดกรองความเสี่ยง รับการฉีดวัคซีน พักสังเกตอาการหลังฉีดเป็นเวลา 30 นาที มีแพทย์ประจำ และกรมการแพทย์ได้จัดรถพยาบาลพร้อมส่งต่อไปโรงพยาบาลราชวิถีในกรณีเหตุฉุกเฉิน มีการบันทึกชนิดวัคซีน ติดตามอาการหลังฉีดในวันที่ 1, 7 และ 30 การแจ้งเตือนการรับวัคซีนโควิดเข็มที่ 2 ทาง Line Official Account “หมอพร้อม” นายอนุทินกล่าวต่อว่า เมื่อคนในประเทศได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้นเท่าไหร่ประเทศจะยิ่งมีความปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น ตามที่องค์การอนามัยโลกได้ระบุไว้ว่า “Nobody is safe until everybody is safe จะไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนปลอดภัย” และเป้าหมายของรัฐบาลคือทุกคนในประเทศได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วนตามความสมัครใจ โดยตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์จนถึงวันนี้ มีผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 1 แล้วกว่า 50,000 ราย ใน 13 จังหวัด คาดว่าจะฉีดครบร้อยเปอร์เซนต์ในสัปดาห์นี้ตามเป้าหมาย และจะได้รับวัคซีนมาเพิ่มเป็นระยะ ฉีดให้ครบ 63 ล้านโดส ภายในปี 2564 รวมทั้งได้มีการเจรจาขอซื้อวัคซีนซิโนแวคอีก 5 ล้านโดส ขอเชิญชวนประชาชนกลุ่มเป้าหมายมารับการฉีดวัคซีนตามนัด สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อให้ประเทศปลอดภัย เศรษฐกิจเดินหน้าได้ทุกคนกลับมายิ้มด้วยกันอีกครั้ง ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโควิด 19 กล่าวว่า สำหรับแผนการกระจายวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เบื้องต้นจะเริ่มจาก 5 จังหวัดที่มีการฉีดให้กับประชาชนแล้ว คือจังหวัดสมุทรสาคร นนทบุรี ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ เพื่อนำไปฉีดให้กับผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีทุกกลุ่ม ทั้งประชาชน ผู้มีโรคประจำตัว บุคลากร ทางการแพทย์ และอสม. โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณา และจะขยายไปจังหวัดอื่นๆ ต่อไป ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีรายชื่อผู้ที่รับการรักษาในโรงพยาบาล และจากการสำรวจโดย อสม./ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข สามารถตรวจสอบรายชื่อเพื่อนัดหมายรับการฉีดจาก Line Official Account หมอพร้อม หากไม่พบรายชื่อ ในช่วงนี้ ให้แจ้งอสม. หรือสอบถามจากสถานพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งวัคซีนจะทยอยส่งให้โรงพยาบาลเป็นล็อตๆ ตลอดปีนี้

มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานครบรอบ “๕๒ ปี วันพระราชทานนาม และ ๑๓๓ ปี มหาวิทยาลัยมหิดล”

วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานครบรอบ “๕๒ ปี วันพระราชทานนาม และ ๑๓๓ ปี มหาวิทยาลัยมหิดล” โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานพิธี พร้อมด้วย ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล และ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมในพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะพระรูปสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จากนั้น เป็นพิธีบําเพ็ญกุศลถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระบรมราชชนก และพิธีเปิดนิทรรศการ เรื่อง “ทศวิทยาสถาน : ๑๐ เรื่องราวสถานที่และอาคารในมหาวิทยาลัยมหิดล” ในโอกาสนี้ ได้จัดแสดงปาฐกถาเกียรติยศ ศาสตราจารย์ นายแพทย์กษาน จาติกวนิช ครั้งที่ ๑๑ เรื่อง “ปฏิรูปอย่างไรให้ไทยวัฒนา” โดย ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยได้กล่าวถึง ความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในโลกอนาคต โดยมีเทคโนโลยีเป็นกลไกที่จะเข้ามามีส่วนสำคัญในการทำงาน ต้องมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับบริบทและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทุกคนต้องเตรียมพร้อมเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ตามกระแสหลักของโลก

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดอบรมหลักสูตรความเป็นเลิศของอาจารย์แพทย์ศิริราช รุ่นที่ ๑๓

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดอบรมหลักสูตรความเป็นเลิศของอาจารย์แพทย์ศิริราช รุ่นที่ ๑๓ วันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดอบรมหลักสูตรความเป็นเลิศของอาจารย์แพทย์ศิริราช รุ่นที่ ๑๓ โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายในหัวข้อ “บทบาทและความสำคัญของอาจารย์โรงเรียนแพทย์” ผ่านออนไลน์โปรแกรม Zoom Meeting ให้แก่ บุคลากรที่บรรจุใหม่ตำแหน่งอาจารย์ ผู้ช่วยอาจารย์ และผู้ช่วยอาจารย์คลินิก ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน ๔๘ คน หลักสูตรความเป็นเลิศของอาจารย์แพทย์ศิริราช รุ่นที่ ๑๓ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๑-๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้ Medical Education สร้างความเป็นครูแพทย์ และได้รับข้อมูลด้านการเรียนการสอน ด้านการวิจัยและงานวิชาการ ด้านการบริการทางวิชาการ และด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยแบ่งการอบรมเป็น ๓ หัวข้อหลัก คือ Functional Course, General Course และ Supplementary Course โดยวิทยากรทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย

นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดลร่วมพิธีทำบุญตักบาตร พิธีถวายราชสดุดี และถวายบังคม เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๓

วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดลร่วมพิธีทำบุญตักบาตร พิธีถวายราชสดุดี และถวายบังคม เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๓ ณ ลานทางเดินบริเวณพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก