มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานมหกรรมคุณภาพ ประจำปี 2565 ภายใต้หัวข้อ “Good Governance in Digital Era: ธรรมาภิบาลในยุคดิจิทัล” Categories

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงจุฑามณี สุทธิสีสังข์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดงานมหกรรมคุณภาพ ประจำปี 2565 (Mahidol Quality Fair 2022) ภายใต้หัวข้อ “Good Governance in Digital Era: ธรรมาภิบาลในยุคดิจิทัล” รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรสมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานคณะกรรมการจัดงาน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน โดยมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บริหารส่วนงาน บุคลากรเข้าร่วมงาน ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และผ่านระบบออนไลน์ ในโอกาสนี้ ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) บรรยายพิเศษหัวข้อ “บทบาทมหาวิทยาลัยกับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล” และการเสวนาหัวข้อ “Digital Transformation” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัชวีร์ ลีละวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและวิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์ ดร. นายแพทย์บดินทร์ ทรัพย์สมบูรณ์ คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านสาธารณสุข) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์ ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โษฑศ์รัตต ธรรมบุษดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการเสวนาโดย อาจารย์ ดร.ระพี บุญเปลื้อง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

มหาวิทยาลัยมหิดล โดย กองพัฒนาคุณภาพ จัดงานมหกรรมคุณภาพ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของบุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดล ในเรื่องการพัฒนาคุณภาพงานและการสร้างนวัตกรรมด้านต่าง ๆ ทั้งในระดับบุคคลและระดับองค์กร เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดี เป็นพื้นที่แห่งความภาคภูมิใจสำหรับผู้ได้รับรางวัลและผู้นำเสนอผลงาน และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เข้าร่วมงานทุกท่านเพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ พัฒนาตน พัฒนางานนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องให้กับมหาวิทยาลัยต่อไป

ภายในงาน มีการนำเสนอผลงานประเภทต่างๆ ได้แก่ รางวัล Team Good Practice Award รางวัล Innovative Teaching Award การนำเสนอผลงานด้วยวาจา (Oral Presentation) การนำเสนอผลงานด้วยโปสเตอร์ (Poster Presentation) ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร และในรูปแบบออนไลน์ผ่าน Mahidol University Digital KM Masterclass การเผยแพร่บทความ ประเภทเรื่องเล่าเร้าพลัง (Storytelling) ในรูปแบบออนไลน์ผ่าน Mahidol University Digital KM Masterclass และกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ The AUN Technology Enhanced Personalised Learning (AUN-TEPL) โดยกองบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งในปี 2565 บุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดล ส่งผลงานเพื่อนำเสนอภายในงาน 342 ผลงานจาก 22 ส่วนงาน และมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานกว่า 1,400 คน

สำนักงานสภามหาวิทยาลัยมหิดลได้รับรางวัลชมเชยโปสเตอร์ Elrctronic Vote for MU (E,-Vote)

คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล โดย ภาควิชาอนามัยครอบครัว ร่วมกับ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดประชุมวิชาการอนามัยครอบครัวแห่งชาติ ครั้งที่ 10 “ดุลยภาพครอบครัวไทย ใส่ใจความรุนแรงและรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว”

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการอนามัยครอบครัวแห่งชาติ ครั้งที่ 10 “รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พิทยา จารุพูนผล หัวหน้าภาควิชาอนามัยครอบครัว คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวรายงาน และได้รับเกียรติจาก แพทย์หญิงเพ็ญศรี พิชัยสนิธ เป็นองค์ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ครอบครัวคุณภาพ สร้างได้ด้วยมือเรา” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 25 พฤศจิกายน 2565 ณ โรงแรมบางกอกชฎา กรุงเทพมหานคร

ภายในงานมีการเสวนา เรื่อง “ดุลยภาพครอบครัว สู่ความมั่นคงของมนุษย์” โดยมีนางรุ่งทิวา สุดแดน รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสุพร อภินันทเวช จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คุณชนิดา สุวีรานนท์ เจ้าของเพจเรไรรายวัน ร่วมการเสวนา ดำเนินรายการ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์สุรางค์ เตชะบุญเสริมศักดิ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

งานประชุมวิชาการครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อระดมความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ นักวิจัย ผู้ปฏิบัติงานด้านอนามัยครอบครัว ทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพัฒนาและผลักดันนโยบายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน การแก้ไขปัญหาสัมพันธภาพและความมั่นคงในครอบครัวไทย เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในครอบครัวและสังคมในปัจจุบันให้เกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกับสถาบันวิชาการด้านครอบครัว

                                                                       

ข้อมูลและภาพ : คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เรียบเรียงโดย : งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2564

โอกาสนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพฤกษศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2564 แด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณที่ทรงเป็นผู้ใฝ่พระราชหฤทัยศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้านพฤกษศาสตร์อย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทรงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการเป็นองค์อุปถัมภ์วงการพฤกษศาสตร์ พระราชทานกระแสพระราชดำริหลายประการในการสร้างสรรค์ และพัฒนาวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ของประเทศไทย ทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกลถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พืชพรรณของประเทศ ทรงสืบสานพระราชปณิธานในการอนุรักษ์ทรัพยากรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งธนาคารพืชพรรณ และโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ซึ่งดำเนินงานอนุรักษ์ทั้งทรัพยากรชีวภาพ ทรัพยากรกายภาพ และทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ทรงจัดให้มีการสำรวจฐานทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การศึกษาวิจัย ดูแล อนุรักษ์ และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรงห่วงใยไปถึงเยาวชน ทรงส่งเสริมให้ได้ใกล้ชิดกับพืชพรรณ เห็นคุณค่า ประโยชน์ ความสวยงาม เกิดความรักหวงแหนทรัพยากร ผ่านโครงการ “สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน” ทั่วประเทศไทย อีกทั้ง ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อนักพฤกษศาสตร์ และวงการพฤกษศาสตร์ไทย ทรงตระหนักถึงความขาดแคลนข้อมูลทางพฤกษศาสตร์พื้นฐาน และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางพฤกษศาสตร์ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น สภามหาวิทยาลัยมหิดล ในคราวประชุม ครั้งที่ 579 เมื่อวันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2565 ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพฤกษศาสตร์ ปีการศึกษา 2564 แด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณให้ปรากฏ และเพื่อเป็นเกียรติประวัติและสวัสดิมงคล อันสูงยิ่งแก่มหาวิทยาลัยมหิดล และเพิ่มพูนเกียรติภูมิแก่คณะวิทยาศาสตร์สืบไป</br></br>

นอกจากนี้ มีผู้ทรงคุณวุฒิเข้ารับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน 2 ราย รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 8 ราย เกียรติบัตรศาสตราจารย์เกียรติคุณ จำนวน 5 ราย ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ จำนวน 2 ราย ผู้เข้ารับพระราชทานทุนมหิดลวิทยาจารย์ จำนวน 2 ราย และผู้เข้ารับพระราชทานทุนภูมิพล จำนวน 1 ราย

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2563

วันที่ 14 ตุลาคม 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปในการพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันสมทบ ประจำปีการศึกษา 2563 ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

สำหรับพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2563 มีบัณฑิตเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จำนวน 4,195 ราย แบ่งออกเป็น ช่วงเช้า จำนวน 2,096 ราย ได้แก่ บัณฑิตวิทยาลัย วิทยาลัยการจัดการ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะกายภาพบำบัด วิทยาลัยศาสนศึกษา วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะศิลปศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า และโครงการร่วมผลิตฯ กระทรวงสาธารณสุข

ช่วงบ่าย จำนวน 2,099 ราย ได้แก่ บัณฑิตวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะพยาบาลศาสตร์ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยนานาชาติ วิทยาเขตกาญจนบุรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก วิทยาลัยพยาบาลกองทัพเรือ และวิทยาลัยพยาบาลทหารอากาศ

โอกาสนี้ มีผู้ทรงคุณวุฒิเข้ารับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน 5 ราย รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 6 ราย เกียรติบัตรศาสตราจารย์เกียรติคุณ จำนวน 6 ราย ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ จำนวน 5 ราย ผู้ได้รับทุนภูมิพล จำนวน 1 ราย

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานศิระกรานพระภูบาลนวมินทร์ ปีที่ 6 “ในหลวงผู้ทรงสถิตในดวงใจ” เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

วันที่ 13 ตุลาคม 2565 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานศิระกรานพระภูบาลนวมินทร์ ปีที่ 6 ในหลวงผู้ทรงสถิตในดวงใจ” เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และถวายเป็นพระราชกุศล โดยมี ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ก้องเขต เหรียญสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและประชาชน ร่วมพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 50 รูป และพิธีสวดพระพุทธมนต์และสดับปกรณ์ พิธีถวายสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จากนั้นกล่าวสดุดีฯ และถวายความอาลัย จากนั้น มีการปาฐกถาเทิดพระเกียรติ หัวข้อ “เศรษฐกิจพอเพียง” โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ณ โรงพยาบาลศิริราช

พิธีทำบุญตักบาตร บำเพ็ญกุศลถวายเป็นพระราชกุศล และพิธีถวายราชสดุดี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต

วันที่ 11 ตุลาคม 2565 ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บริหารส่วนงาน และบุคลากรจากส่วนงานต่าง ๆ เข้าร่วมพิธีทำบุญตักบาตร บำเพ็ญกุศลถวายเป็นพระราชกุศล และพิธีถวายราชสดุดี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต โดยมีอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในพิธี จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย จุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สำหรับกิจกรรมในพิธีบำเพ็ญกุศลฯ ได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ 20 รูป จากวัดสิรินธรเทพรัตนาราม ในพระราชูปถัมภ์ฯ วัดลานตากฟ้า และน้ำทองสิกขาลัย วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบพิธีเจริญพุทธมนต์ โดยมีบุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดล นำข้าวสารอาหารแห้ง มาร่วมในพิธีทำบุญตักบาตร จากนั้น ­ผู้เข้าร่วมพิธีร่วมร้องเพลง “ต้นไม้ของพ่อ” และเพลง “เดินตามรอยเท้าพ่อ” โดยผู้ร่วมพิธีพร้อมใจกันแต่งกายด้วยชุดโทนสีเหลือง ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

พิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เนื่องใน “วันมหิดล” ประจำปี 2565 ณ ศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

วันที่ 24 กันยายน 2565 มหาวิทยาลัยมหิดลจัดพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เนื่องใน “วันมหิดล” ประจำปี 2565 โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลา พร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บริหารส่วนงาน บุคลากร และนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ในโอกาสนี้ มีหน่วยงานภายนอกบริเวณใกล้เคียงมหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะฯ ณ ลานพระราชานุสาวรีย์ฯ ศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

จากนั้น เป็นพิธีเปิดนิทรรศการ “ครุยปริญญา ศักดิ์และสิทธิ์แห่งวิทยฐานะมหิดล” ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดขึ้นเนื่องใน “วันมหิดล” ประจำปี 2565 โดยได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชุดครุยปริญญาของมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

“วันมหิดล” เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งตรงกับวันที่ 24 กันยายน ของทุกปี ด้วยพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงวางรากฐานแก่วงการแพทย์ และการสาธารณสุขของไทยให้เจริญก้าวหน้า บุคลากรทางการแพทย์ การสาธารณสุข จึงได้ถือให้วันนี้เป็นวัน “มหิดล” เพื่อถวายราชสักการะ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระองค์ให้เป็น “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขไทย”

มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาสภามหาวิทยาลัยมหิดล MU : The Way Forward 2022

วันที่ 26 สิงหาคม 2565 ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานกล่าวเปิดการเสวนาสภามหาวิทยาลัยมหิดล MU : The Way Forward 2022 โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยทีมรองอธิการบดีทุกฝ่าย ศาสตราจารย์คลินิกพิเศษ นายแพทย์เสรี ตู้จินดา อุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ คุณหญิงลักษณาจันทร เลาหพันธุ์ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล อาจารย์ ดร.ธิติคม พัวพันสวัสดิ์ ประธานสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บริหารส่วนงานมหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมการเสวนาและรับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน และ รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม อาจารย์ ดร.ระพี บุญเปลื้อง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ ศูนย์ประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล และผ่านระบบออนไลน์

จากนั้น เป็นการนำเสนอของ กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยผู้บริหารส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน รองศาสตราจารย์ ภก.สุรกิจ นาฑีสุวรรณ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.ยาใจ สิทธิมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร. นพ. ทพ.ศิริชัย เกียรติถาวรเจริญ คณบดีคณะทันแพทยศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร. กภ.จารุกูล ตรีไตรลักษะ คณบดีคณะกายภาพบำบัด รองศาสตราจารย์ ดร.สราวุธ เทพานนท์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร. สัตวแพทย์หญิงวลาสินี ศักดิ์คำดวง คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์นรัตถพล เจริญพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน รองศาสตราจารย์ นายแพทย์บวรฤทธิ์ จักรไพวงศ์ คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา รองศาสตราจารย์ ดร.สิริพงษ์ ฐิตะมาดี ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา

ในภาคบ่ายเป็นการนำเสนอของ กลุ่มสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โดยผู้บริหารส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจุฬธิดา โฉมฉาย คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิตา รักธรรม คณบดีวิทยาลัยการจัดการ อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ รองศาสตราจารย์ ดร.อารี จำปากลาย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.มรกต ไมยเออร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย รองศาสตราจารย์ ดร.เสาวคนธ์ รัตนวิจิตราศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิวิชญ์ เลี้ยงอิสสระ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ร.ท. ทพ.ชัชชัย คุณาวิศรุต รักษาการแทนคณบดีวิทยาลัยราชสุดา อาจารย์ ดร.พิบูลย์ ชุมพลไพศาล คณบดีวิทยาลัยศาสนศึกษา

การนำเสนอของ กลุ่มวิทยาศาสตร์ประยุกต์ โดยผู้บริหารส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รองศาสตราจารย์ ดร.สุระ พัฒนเกียรติ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัชวีร์ ลีละวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและวิทยาเขตกาญจนบุรี รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐนียา โตรักษา ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ อาจารย์ แพทย์หญิงมนทกานติ์ โอประเสริฐสวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ นายแพทย์สุรพร ลอยหา รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ นายสัตวแพทย์สุรชัย จันทร์ทิพย์ สพ.บ. ผู้อำนวยการศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพล เผ่าสวัสดิ์ ผู้อำนวยการหอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล และรองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม

การเสวนาครั้งนี้ สภามหาวิทยาลัยมหิดล จัดขึ้นเพื่อระดมความคิดจากกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ จากการเยี่ยมชมและรับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (MU Council Visit) ประจำปี 2564 ที่ผ่านมา โดยมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บริหารส่วนงานมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อหาแนวทางบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกัน ทั้งในด้านวิจัย วิชาการ และการบริการวิชาการสู่สังคม เพื่อผลักดันมหาวิทยาลัยมหิดลให้เป็นมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน

มหาวิทยาลัยมหิดล จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ วันที่ ๒ เรื่อง “การเรียนรู้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs”

วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การเรียนรู้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs” ซึ่งการจัดงานในวันนี้เป็นวันที่ ๒ ของการอบรมดังกล่าว โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา และอดีตนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายใน หัวข้อ “Mahidol University & Sustainable Development Goals” กล่าวว่า “SDGs เป็นเป้าหมายระดับโลกขององค์การสหประชาชาติที่มี ๑๙๓ ประเทศ มุ่งมั่นเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ภายในปี ค.ศ. 2030 และพนักงานมหาวิทยาลัยมหิดลทุกท่าน เป็นผู้ที่มีส่วนร่วม ในการสนับสนุนการบรรลุ SDGs ในระดับประเทศ และระดับโลกต่อไป” ทั้งนี้ มีบุคลากรสายสนับสนุนที่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ของแต่ละส่วนงานเข้าร่วมการอบรม จำนวน 36 ส่วนงาน รวมจำนวนทั้งสิ้น ๑๒๐ ท่าน ณ ห้องประชุม ๒๑๘ ชั้น ๒ อาคารสิริวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๘-๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๕

จากนั้น เป็นการบรรยายในหัวข้อ “งานวิจัยจะช่วยให้มนุษย์และธรรมชาติดํารงอยู่อย่างสมดุลได้หรือไม่” โดย คุณหญิงลักษณาจันทร เลาหพันธุ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ได้กล่าวถึง “The Global Goals ในเรื่อง ความขจัดความยากจน ความหิวโหย การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การศึกษาที่มีคุณภาพ ความเท่าเทียมทางเพศ น้ำสะอาดและสุขาภิบาล พลังงานสะอาดและจ่ายได้ งานที่มีคุณค่าเศรษฐกิจที่เติบโต อุตสาหกรรม นวัตกรรมโครงสร้างพื้นฐาน ลดความเหลื่อมล้ำ เมืองและชุมชนยั่งยืน และการผลิตและบริโภคที่รับผิดชอบ การรับมือกับ Climate Change นิเวศทางทะเลและมหาสมุทร ระบบนิเวศบนบก สันติภาพและสถาบันเข้มแข็ง และหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา รวมทั้งเรื่องหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และหัวข้อ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กับการรายงานผลกระทบของมหาวิทยาลัย ตามกรอบ Times Higher Education” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชล บุนนาค ผู้อํานวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) หัวข้อ “Mahidol University’s theory of Corporate Sustainability: Policy implications for MU sustainable development ” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร รองคณบดีงานวิจัย และผู้อํานวยการศูนย์วิจัยภาวะผู้นําอย่างยั่งยืน วิทยาลัยการจัดการ และการนําเสนอ Workshop และสรุปการบรรยาย ทําแบบทดสอบ Post-Test โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ พิมพา ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายความยั่งยืน วิทยาลัยการจัดการ พร้อมทีมงานจากวิทยาลัยการจัดการ ร่วมดำเนินรายการตลอดทั้ง ๒ วัน

สำหรับการอบรมฯ ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบายของสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารมหาวิทยาลัยจากวิสัยทัศน์สู่การปฏิบัติ (From Vision to Action) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้บุคลากรสายสนับสนุนได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างเครือข่ายกลุ่มเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับการอบรมไปประยุกต์ใช้ในการทำงานให้เกิดความยั่งยืนต่อส่วนรวม มหาวิทยาลัยและประเทศชาติ

มหาวิทยาลัยมหิดล จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง“การเรียนรู้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs”

วันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายเเพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การเรียนรู้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs” โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ก้องเขต เหรียญสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร และรักษาการแทนหัวหน้าสำนักงานสภามหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวรายงานการอบรม ณ ห้องประชุม ๒๑๘ ชั้น ๒ อาคารสิริวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ซึ่งงานดังกล่าวจัดขึ้นเป็นเวลา ๒ วัน ระหว่างวันที่ ๒๘-๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ จัดโดย สำนักงานสภามหาวิทยาลัยมหิดล บูรณาการร่วมกับ วิทยาลัยการจัดการ กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม กองแผนงาน และกองทรัพยากรบุคคล สำนักงานอธิการบดี

จากนั้น เป็นการบรรยาย โดยทีมผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ในหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่ หัวข้อ “Roles of Higher Educations for SDGs” โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล หัวข้อ “SDGs : นโยบายและแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ รองอธิการบดี และหัวข้อ “จากมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) สู่มหาวิทยาลัยยั่งยืน (Sustainable University)” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อให้บุคลากรสายสนับสนุน หรือผู้ที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของแต่ละส่วนงาน มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่าย และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปประยุกต์ใช้ในการทำงานให้เกิดความยั่งยืนต่อส่วนงาน มหาวิทยาลัย และประเทศชาติต่อไป

ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายเเพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs เป็นสิ่งที่ประเทศไทยและสมาชิกองค์การสหประชาชาติ รวม ๑๙๓ ประเทศ ร่วมรับรองในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ เพื่อร่วมกันบรรลุเป้าหมายการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ภายในปี พ.ศ. ๒๕๗๓ จะเห็นว่าโครงการนี้ใช้เวลาดำเนินการ ทั้งสิ้น ๑๕ ปี เหลือระยะเวลาอีก ๘ ปีเท่านั้น องค์การสหประชาชาติ ได้ติดตามผลการดำเนินงานของแต่ละประเทศตลอดมา และในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ นี้ ประเทศไทยจะถูกจัดอันดับที่ ๔๔ ของโลกในการมุ่งสู่เป้าหมาย ซึ่งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมี ๑๗ ข้อ แบ่งเป็นกลุ่มตามปัจจัยที่เชื่อมโยงกัน ๕ มิติ หรือ 5P ได้แก่
๑. People การพัฒนาคน เพื่อขจัดปัญหาความยากจน ความหิวโหยและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
๒. Planet คือ การปกป้องและรักษา สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพภูมิอากาศเพื่อพลเมืองโลกรุ่นต่อไป ๓. Prosperity คือ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี และสอดคล้องกับธรรมชาติ
๔. Peace คือ สันติภาพและความยุติธรรม โดยยึดหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีสังคม และสงบสุขไม่แบ่งแยก
๕. Partnership เป็นสิ่งสำคัญที่สุด คือ ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน

ดังนั้น มหาวิทยาลัยมหิดล มีความหลากหลายทั้งองค์ความรู้ ที่จะสามารถนำมาบูรณาการ สามารถจัดเตรียมทักษะความรู้ และความเข้าใจให้แก่นักศึกษา เพื่อให้เป็นบัณฑิตที่มีปัญญา สามารถบริหารจัดการกับความท้าทาย และขยายโอกาสในการดำเนินการวิจัยที่ก้าวหน้าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

ในส่วนกิจกรรมวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ มีการบรรยายในหัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่ หัวข้อ “Mahidol University & Sustainable Development Goals” โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภาและอดีตนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล หัวข้อ “งานวิจัยจะช่วยให้มนุษย์และธรรมชาติดํารงอยู่อย่างสมดุลได้หรือไม่” โดย คุณหญิงลักษณาจันทร เลาหพันธุ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ หัวข้อ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กับการรายงานผลกระทบของมหาวิทยาลัย ตามกรอบ Times Higher Education” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชล บุนนาค ผู้อํานวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) หัวข้อ “Mahidol University’s theory of Corporate Sustainability: Policy implications for MU sustainable development “ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร รองคณบดีงานวิจัย และผู้อํานวยการศูนย์วิจัยภาวะผู้นําอย่างยั่งยืน วิทยาลัยการจัดการ จากนั้น จะเป็นการนําเสนอ Workshop และสรุปการบรรยาย ทําแบบทดสอบ Post-Test โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ พิมพา ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายความยั่งยืน วิทยาลัยการจัดการ พร้อมทีมงานจากวิทยาลัยการจัดการ ร่วมดำเนินรายการ